เมื่อ ติดโควิด แล้วต้อง รักษาตัวที่บ้าน มีวิธีดูแลอย่างไร
ถ้าเราเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิดที่ Home Isolation เราต้องทำอะไรบ้าง ดูแลตัวเองและป้องกันคนรอบข้างไม่ให้สัมผัสเชื้อไวรัสได้อย่างไร มาดูคำแนะนำกันคะ
ศบค. เผย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 1 มีนาคม 2565 รวม 20,420 ราย จำแนกเป็น
ผู้ป่วยจากในประเทศ 20,249 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 171 ราย ผู้ป่วยสะสม 688,912 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 18,297 ราย หายป่วยสะสม 505,152 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 215,725 ราย เสียชีวิต 43 ราย
สำหรับคนติดโควิด 19 มีอาการไม่รุนแรง และใช้ วิธีกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้คนในบ้านติดเชื้อไปด้วย และรักษาตัวเองอย่างไรให้หายเร็วขึ้น มาทำความเข้าใจกันคะ
ใครรักษาตัวแบบ Home Isolation ได้บ้าง
1. อายุน้อยกว่า 75 ปี
2. เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ
3. มีสุขภาพแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษาและสามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
4. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
ลงทะเบียน Home Isolation ยังไง
กรณี ตรวจ ATK ด้วยตัวเองแล้วได้ผลบวก สามารถติดต่อตามช่องทางต่อไปนี้
1. สำหรับประชาชนทั่วไป และผู้ที่ใช้บัตรทอง ให้ติดต่อ สปสช. โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
2. สำหรับผู้ประกันตนประกันสังคม มาตรา 33 และ 39
โทร. ไปที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506 กด 6 และกด 7
หรือโทร. ไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิของตัวเอง เพื่อรับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน
3. สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถติดต่อไปยัง Call Center ของจังหวัดหรือชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีประกาศอยู่ตามหน้าเพจเฟซบุ๊กของแต่ละจังหวัด
โดยเจ้าหน้าที่จะประสานและจับคู่กับสถานพยาบาล เพื่อให้คำแนะนำและให้การรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน ซึ่งจะได้รับยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่น ๆ ในการรักษาตามอาการ พร้อมทั้งวิดีโอสอบถามอาการเป็นประจำ
ต้องกักตัวที่บ้านกี่วัน
ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อก่อนมีอาการประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึงสิ้นสุดสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วยนับจากวันที่เริ่มมีอาการ แม้อาการดีขึ้นแล้วก็ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลือในน้ำมูก น้ำลาย ซึ่งแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อีกประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มป่วย
ดังนั้น คนที่ กักตัวที่บ้านต้องแยกตัวเองจากผู้อื่น ขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วยหรือตรวจพบเชื้อ หากครบ 10 วันแล้วยังมีอาการอยู่ ควรแยกกักตัวต่อจนกว่าอาการจะหายไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าควรหยุดกักตัวเมื่อไร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอาการอยู่
วิธีรักษาโควิดด้วยตัวเองเบื้องต้น หากมีไข้ขึ้นสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
1. รับประทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่ถ้าแพ้ยาพาราเซตามอลให้เช็ดตัวแทน
2. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 1.5-2 ลิตรต่อวัน
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้น
4. เช็ดตัวบ่อย ๆ เพื่อลดไข้
หากมีอาการไอ เจ็บคอ
1. จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น
2. ควรนอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง
3. รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
หากมีอาการหวัด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก
1. นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่
2. เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ
3. หายใจช้า ๆ ลึก ๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน
สิ่งที่ควรทำเมื่อ Home Isolation
1. ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมบ้าน และงดออกจากบ้าน
2. อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา หากยังไอ จาม ต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่ในห้อง (ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้หน้ากากผ้า)
3. ไม่อยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในบ้าน ถ้าจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
4. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ หรือก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่ใช้ร่วมกันในบ้าน
5. กรณีผู้ป่วยเป็นมารดาให้นมบุตร สามารถให้นมบุตร แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย
6. ใช้ห้องน้ำแยกจากคนอื่น แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรเข้าเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ ทำความสะอาดห้องน้ำ พื้นผิว โถสุขภัณฑ์ ด้วยน้ำและน้ำยาฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5% (เช่น ไฮเตอร์, คลอรอกซ์)
7. แยกห้องพัก และไม่ใช่สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน แก้วน้ำ ช้อน-ส้อม ผ้าเช็ดตัว คอมพิวเตอร์
8. ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น
9. ทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะปนเปื้อนในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง และล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันที
10. วัดไข้และออกซิเจนในเลือดทุกวัน
อาการแบบไหนต้องส่งต่อโรงพยาบาล
1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่
3. Oxygen Saturation ต่ำกว่า 94%
4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค