ประกันสังคม ลดเงินสมทบ ม.33 ม.39 ม.40 เช็กจ่ายเดือนละเท่าไร มีผลวันไหน
ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ ลดเงินสมทบประกันสังคม ผู้ประกันตนมาตรา 33 , มาตรา 39 และมาตรา 40 เช็กจ่ายเดือนละเท่าไร มีผลวันไหน
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65 ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมีการปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือน พ.ค.-ก.ค. 65 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. นายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ลดจ่ายเงินสมทบจากอัตราที่เท่ากัน 5% ต่อเดือน เหลือ 1 % ต่อเดือน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไปได้
2. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% โดย ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือคนที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และทำในบริษัทเอกชนมาก่อน แล้วลาออกจากงาน และสมัครใจ้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อเพื่อรับสิทธิทดแทนและคุ้มครอง 6 กรณี (เจ็บป่วย-อุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, คลอดบัตร, สงเคราะห์บุตร และชราภาพ) ซึ่งปกติผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่งเงินสมทบเข้ากองวทุน 432 บาทต่อเดือน
3. ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยอัตราการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เข้ากองทุนประกันสังคมมี 3 อัตรา
- อัตราเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 42 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย
- อัตราเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 60 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ
- อัตราเดิมจ่ายสมทบ 300 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 180 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร