ปทส. รวบตัวคนขาย "ลูกเสือโคร่ง" กลางลานจอดรถห้างดัง
ตำรวจ ปทส. ร่วมชุดเหยี่ยวดง รวบผู้ต้องหานัดส่งมอบ "ลูกเสือโคร่ง" อ้างนำมาจากต่างประเทศ กลางลานจอดรถห้างดังนนทบุรี
วันที่ 6 เมษายน 2565 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ นายนาวี ช้างภิรมย์ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ นำเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 และชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิด้านการสืบสวนการค้าสัตว์ (WJC) หลังได้รับการประสานจากตำรวจ กก.1 บก.ปทส. ให้ร่วมตรวจสอบว่ามีการประกาศขายลูกเสือโคร่งทางเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีการนัดรับส่งสัตว์ป่า บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตำบลธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 เวลา 19.05 น. เจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาถึงสถานที่ดังกล่าวพบชาย จำนวน 1 คน ขับรถยนต์เก๋ง ฮอนด้าซิตี้สีเทา เข้ามาในลานจอดรถ ชั้น G เพื่อรอส่งมอบสัตว์ป่าให้กับชาย จำนวน 2 คน ซึ่งรออยู่ก่อนแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวและเข้าตรวจจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 3 คน พร้อมของกลาง ลูกเสือโคร่ง อายุประมาณ 4 เดือน จำนวน 1 ตัว มูลค่า 400,000 บาท ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และอุปกรณ์การกระทำผิด โดยผู้ต้องหาได้ให้การว่าได้ติดต่อขอซื้อลูกเสือโคร่งมาจากบุคคลหนึ่ง ซึ่งอ้างว่านำลูกเสือโคร่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งหากมีการซื้อขายสำเร็จ จะแบ่งเงินค่านายหน้าให้คนละครึ่ง แต่ถูกคณะเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 17 ฐาน มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี มีอัตราโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 29 ฐาน ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประกอบมาตรา 112 และ มาตรา 116 แห่ง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้ สัตว์ป่าของกลางได้ส่งมอบให้กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อตรวจสอบชนิดพันธ์ุและดูแลรักษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยจะได้นำลูกเสือโคร่งที่ตรวจยึดได้ไปตรวจสอบทางขบวนการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เพื่อขยายผลกับฐานข้อมูลเสือโคร่งในกรงเลี้ยง ว่าลูกเสือโคร่งดังกล่าวมีที่มาอยู่ในประเทศไทยหรือไม่
ขอบคุณ http://news.dnp.go.th/