"หมอธีระ" ยกบทเรียน Long COVID ต่างประเทศ แนะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อดีที่สุด
หมอธีระ วรธนารัตน์ ยกบทเรียน Long COVID (ลองโควิด) ต่างประเทศ ส่งผลกระทบระยะยาว แนะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อดีที่สุด
"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาพูดถึง สถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat
ระบุว่า ...สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
...Long COVID
ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางรับมือปัญหา Long COVID ซึ่งพบมากถึง 7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ และจะส่งผลกระทบทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน ถือเป็นเรื่องที่ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้
7% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดของประเทศนั้น คำนวณกลับจากฐานประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนมากถึง 14.6 ล้าน
จากข้อมูลข้างต้น หากประเมินเปรียบเทียบกับจำนวนคนวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อจะพบว่าอัตราการเกิดภาวะ Long COVID ในคนวัยผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อจะสูงราว 20%
ในขณะเดียวกัน ชุดข้อมูลจาก Office for National Statistics ของสหราชอาณาจักร ก็รายงานปัญหา Long COVID ในประชากรที่สูงราว 1.7 ล้านคน หรือพบได้ประชากรทั่วไปได้ 1 ใน 37 คน แม้อัตราการเกิดจะดูน้อยกว่าอเมริกา ตัวเลขดังกล่าวเป็น self-reported จึงมีโอกาสที่ต่ำกว่าสถานการณ์จริงได้ แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยที่เห็นอยู่นี้ก็ถือว่ามหาศาล
ทั้งนี้มีถึง 780,000 คนที่ประสบภาวะ Long COVID มายาวนานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และมีมากถึง 334,000 คน ที่เริ่มประสบปัญหานี้จากระลอก Omicron ซึ่งเพิ่งเป็นจำนวนที่เริ่มปรากฏให้เห็นจากช่วงปลายปีก่อน แต่จะทยอยมากขึ้นกว่านี้จากเคสที่ติดเชื้อตั้งแต่ต้นปีนี้มา
ที่น่าเป็นห่วงคือ ตั้งแต่ระลอก Omicron เป็นต้นมา เคสที่เป็น Long COVID จะมีทั้งชายและหญิง และมีทุกช่วงวัยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยขณะนี้มีเด็กที่มีภาวะ Long COVID สูงถึง 150,000 คน มีเพียง 31,000 คนที่เป็นมานานกว่า 1 ปี เนื่องจากในระลอกก่อนๆ การติดเชื้อมักเกิดมากในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่หลังจากมี Omicron ระบาด มีเด็กติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน
...บทเรียนของต่างประเทศเป็นเหมือนเสียงระฆังที่ดัง กังวาล เตือนให้ไทยเราตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรค
ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
หากปล่อยปละละเลย ดำเนินนโยบายตามกิเลส โดยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จำนวนติดเชื้อย่อมมีมาก และจะไม่จบแค่ติดเชื้อ ป่วย รักษา หายหรือตาย
แต่จะเกิดผลกระทบระยะยาว Long COVID บั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิต การทำงาน และทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหรือภาวะทุพลภาพ เป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาน้อยๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน และไปรักษาให้หายดีเสียก่อน
คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ต้องป้องกันตนเองเช่นกัน เพราะติดเชื้อซ้ำได้ และควรประเมินสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ
สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก...