เฉลยแล้ว "หายป่วยโควิดแล้วแต่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด" แพร่เชื้อได้หรือไม่
ไขข้อข้องใจ หายป่วยโควิด-19 แต่ตรวจ ATK ยังขึ้น 2 ขีด สรุปหายหรือยัง สามารถแพร่เชื้อระบาดไปยังผู้อื่นได้หรือไม่
จากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย มีลักษณะคล้ายไข้หวัด แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ทุกคนเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันผู้ที่หายป่วยโควิด-19 ก็เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อรักษาโควิด-19 จนหายแล้ว แต่ทำไมลองตรวจ ATK แล้วถึงยังขึ้น 2 ขีด สรุปว่าหายป่วยหรือยัง แล้วจะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นได้หรือไม่
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่งรักษาตัวจนหายมีสิทธิ์ตรวจ ATK เป็นผลบวกได้ เนื่องจากในร่างกายอาจยังมีซากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ร่างกายยังกำจัดไม่หมดหลงเหลืออยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลาย บางรายอาจจะนานถึง 3 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งซากสารพันธุกรรมดังกล่าวคือจุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์ เป็นเชื้อที่ตายแล้ว ถ้านำไปเพาะเชื้อก็จะเพาะไม่ขึ้น เท่ากับว่าเชื้อที่พบไม่สามารถแพร่ไปให้ผู้อื่นได้อีก เป็นเสมือนซากเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้แล้วนั่นเอง
ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนครบกําหนดระยะเวลาแล้ว จึงถือว่าพ้นระยะแพร่เชื้อสามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างปกติ แม้ว่าบางคนอาจจะมีอาการหลงเหลือเล็กน้อย แต่อาการนั้นไม่ใช่อาการที่แสดงว่ายังมีเชื้ออยู่ เป็นแต่เพียงการอักเสบที่ยังตกค้างอยู่ และจะหายไปเองในที่สุด การตรวจหาเชื้อจึงไม่มีความจําเป็น ไม่มีประโยชน์ใดๆ และสร้างความสับสน เพราะสิ่งที่พบคือ สารพันธุกรรมที่เหลืออยู่ (ซากเชื้อ) ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ทําให้เข้าใจผิดว่าบุคคลนั้นยังไม่หายจากโรค ทั้งๆที่ความจริงคือเขาหายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว
-ข่าวดี ปปช.ได้เฮ "บิ๊กตู่" สั่งรัฐบาลโอนเงินช่วย 3 กลุ่มเปราะบางด่วน
-ปศุสัตว์แจงแล้ว หลังสะพัดบริษัทดังปิดข่าว หมู-ไก่เป็นเอดส์ ห้ามกิน 6 เดือน
-เปิด 8 เส้นทางเลี่ยงรถติดสงกรานต์ 2565
แพทย์จึงไม่แนะนำให้มีการตรวจซ้ำหลังการรักษาครบตามกำหนดเวลา นอกจากจะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ หลังจากหายป่วยจากโรคโควิด-19 มาระยะหนึ่ง เพราะภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นที่ต่างสายพันธุ์กับที่ติดมาก่อนหน้าได้ เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นอีกครั้งจะไม่รุนแรงเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วนั่นเอง
ดังนั้น ผู้ป่วยที่หายแล้วจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และอย่าลืมการปฏิบัติตัวตามมาตรฐานวิถีใหม่ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
ขอบคุณข้อมูล : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค , โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา