"หมอธีระ" เผยงานวิจัยเกี่ยวกับ Long COVID ความเสี่ยงของช่วงอายุ
"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เผยงานวิจัยเกี่ยวกับ Long COVID ความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโควิด-16 แต่ละอายุ
"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัพเดตงานวิจัย Long COVID
Sugiyama A และคณะจากประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการศึกษาเชิงสำรวจเกี่ยวกับ Long COVID ในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 127 คน จาก 2 โรงพยาบาลในเมืองฮิโรชิม่า ช่วงสิงหาคม 2563-มีนาคม 2564
พบว่า ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจนั้น มีผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่อเนื่องภายหลังจากติดเชื้อในช่วงแรกถึง 52%
โดยคนที่เคยติดเชื้อแบบมีอาการน้อยก็รายงานว่ามีอาการคงค้างสูงถึง 49.5% ทั้งนี้อาการที่พบบ่อยมักเป็นปัญหาเรื่องการดมกลิ่น การรับรส ไอ เป็นต้น
เทียบกันแล้วพบว่า คนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการคงค้างมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีลงมา ถึง 3.63 เท่า
จากผู้ป่วยที่มี Long COVID ทั้งหมด พบว่ามีถึง 29.1% ที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการทำงาน
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือ การถูกตีตราทางสังคมหรือกีดกัน (Stigma and discrimination) ที่พบได้มากถึง 43.3%
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสำคัญในการที่แต่ละประเทศควรเตรียมระบบบริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย Long COVID ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากในอนาคตหลังจากผ่านพ้นระยะการระบาดหนักไป
ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านการแพทย์ แต่สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
สุดท้าย...bottomline
การป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากครับ เพราะคือปราการด่านสุดท้ายของทุกคน