ผลผลิตลด บริโภคเพิ่ม ต้นทุนพุ่ง ขบวนการลักลอบนำเข้าสุกรซ้ำเติม ขอกลไกตลาดทำงาน
ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุกรทั้งประเทศมีผลผลิตสุกรลดลง 40-50 % นับแต่ได้รับผลกระทบจากโรค ASFในสุกรช่วงก่อนหน้านี้ เป็นผลให้มีปริมาณไม่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว
สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงสุกรขณะนี้ เกษตรกรยังไม่มั่นใจกับภาวะโรคที่เกิดขึ้น ผู้เลี้ยงส่วนหนึ่งจึงลดความเสี่ยงในการนำสุกรเข้าเลี้ยง ขณะที่บางรายก็ยังงดการนำสุกรเข้าเลี้ยง ในรายที่ยังเลี้ยงอยู่ก็ลดปริมาณการเลี้ยงไม่เต็มประสิทธิภาพ กลายเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ผลผลิตลดลงไปอีก
คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรได้ประเมินต้นทุนการเลี้ยงสุกรไตรมาส 2/2565 ที่กิโลกรัมละ 98.81 บาท กลายเป็นวิกฤตของเกษตรกร จากต้นทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีหลายปัจจัย ได้แก่
ประการแรก ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ยิ่งเมื่อมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก กลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาธัญพืชทั่วโลกยิ่งปรับสูงขึ้นไปอีก ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารสำหรับสุกรสูงขึ้นเฉลี่ย 25-30% ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นธัญพืชที่ไทยสามารถผลิตได้เองปีละประมาณ 5 ล้านตัน น้อยกว่าความต้องการใช้ที่มีอยู่จริงปีละ 8 ล้านตัน เท่ากับยังขาดแคลนอีก 3 ล้านตัน
ประการที่สอง ต้นทุนป้องกันโรค
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากการระบาด ASF ในสุกร เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงลงทุนในการทำระบบป้องกันโรคระบาดในฟาร์มอย่างเข้มงวด พร้อมกับยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) มีการพักคอก ปรับปรุงโรงเรือน และใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมระบบการเลี้ยงก่อนการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก เพื่อให้สามารถเลี้ยงสุกรได้อย่างปลอดภัย
ประการที่สาม ต้นทุนค่าน้ำ-ไฟ-น้ำมัน
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ช่วงฤดูร้อน เกษตรกรต้องดูแลสภาพอากาศในโรงเรือนเพื่อคงประสิทธิภาพในการทำให้โรงเรือนมีความเย็นในระดับคงที่ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยต้องเปิดระบบทำความเย็นแทบทั้งวัน จึงจำเป็นต้องใช้น้ำและไฟฟ้าเพื่อเดินระบบมากขึ้น บางฟาร์มมีระบบปั่นมอเตอร์พัดลมโดยใช้น้ำมัน ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่ม ยิ่งรัฐบาลจะเลิกพยุงราคาน้ำมันดีเซลในวันที่ 1 พ.ค.2565 นี้ ภาระหนักก็จะตกที่เกษตรกร เพราะต้องใช้น้ำมันทั้งในการเลี้ยงและขนส่งสุกร
นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สุกรที่ปรับตัวไม่ได้ เกิดความเครียดสะสม ทำให้มีอัตราเสียหายมากขึ้น ผลผลิตที่ได้ลดลง ต้นทุนการเลี้ยงก็ยิ่งสูงขึ้น เกือบ 99 บาทต่อกิโลกรัมดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ประกาศราคาแนะนำสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเกษตรกรในปัจจุบันอยู่ที่ 96-98 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาภาคผู้เลี้ยงทั่วประเทศต่างให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการพยุงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ให้เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อดูแลค่าครองชีพผู้บริโภค ทั้งที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนก็ตาม
ประการที่สี่ แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภายใต้ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่สุดในอาชีพ หลังจากพบโรค ASF ในสุกร ทำให้การเลี้ยงสุกรต้องหยุดชะงัก เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะโรคระบาด และขณะนี้เกษตรกรยังไม่สามารถขอกู้เงินในระบบได้ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ เพราะผู้เลี้ยงไม่มีรายได้และยังไม่มีหลักประกันในอาชีพ เรียกง่ายๆว่า "เกษตรกรขาดที่พึ่ง" แม้จะอยากทำอาชีพเลี้ยงสุกรต่อ แต่ก็มีอุปสรรคเพราะไม่มีทุน การจะเริ่มเลี้ยงสุกรรอบใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จากการต้องปรับปรุงระบบการเลี้ยงและการป้องกันโรคให้ได้มาตรฐาน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เรื่องนี้ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ประการที่ห้า ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรซ้ำเติม
เรื่องนี้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร ยังคงมีกลุ่มผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ที่ปรับตัวกับสถานการณ์ ด้วยการเลี้ยงหมูขุนใหญ่ขึ้น จับออกขายที่น้ำหนัก 110-120 กิโลกรัม ทำให้ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานขึ้น ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็ต้องจับออก ไม่มีการกักหมูไว้เพื่อเก็งกำไร หากแต่ยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมายจากหลายประเทศมาสวมเป็นเนื้อสุกรไทย เพื่อฉวยโอกาสทำกำไร ซึ่งเป็นภัยร้ายกับผู้บริโภคโดยตรงเพราะหลายประเทศในตะวันตกยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้ ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงยังเสี่ยงต่อโรคต่างถิ่นที่อาจติดมากับสินค้าเหล่านี้ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ต้องเร่งปราบปราม "ขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร" เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยในระยะยาว และปกป้องเศรษฐกิจชาติที่ต้องเสียหายจากขบวนการลักลอบ
บทสรุป ปัญหารอบด้านที่เกิดขึ้น ทั้งผลผลิตลด ต้นทุนเพิ่ม และขบวนการลักลอบนำเข้าสุกรที่ซ้ำเติม ทั้งสองสมาคมผู้เลี้ยงสุกรย้ำว่า เกษตรกรขอเพียงความเข้าใจจากผู้บริโภคและภาครัฐ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี โดยไม่มีการควบคุม ให้เกษตรกรสามารถขายสุกรในราคาที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นทางออกของปัญหา และทางรอดของเกษตรกร