กทม. ประกาศคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับ 52 มีผล 1 พ.ค. 65
นายขจิต ชัชวานิชย์ ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร ประกาศคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับ 52 มีผล 1 พฤภาคม 2565.
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 52 มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
ประกาศดังกล่าว ระบุความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้ง 5/2565 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 จึงมีคำสั่งต่อไปนี้
1. การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและเครื่องดื่ม เปิดได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA Plus ขึ้นไป หรือ Thai Stop Covid 2 Plus แล้วเท่านั้น และจำกัดการให้บริการและบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ไม่เกิน เวลา 24.00 น.
2. การให้บริการเพื่อการจัดประชุม สัมมนา หรือการจัดงานในโรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน อนุญาติให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานได้เฉพาะสถานที่ที่ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และจำกัดในดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 24.00 น.
3. โรงภาพยนต์ เปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
4. สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทำเล็บ และร้านสัก เปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผู้รับบริการต้องได้รับวัคชีนครบ หรือมีผลตรวจโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนใช้บริการ โดยวิธี RT-PCR หรือ ATK
5. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และสถานประกอบการนวดแผนไทย เปิดดำเนินการได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผู้รับบริการต้องได้รับวัคชีนครบ หรือมีผลตรวจโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนใช้บริการ โดยวิธี RT-PCR หรือ ATK
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท