"หมอธีระ" เผยการติดเชื้อโควิด แพร่ในอากาศ มากกว่าสัมผัสบนพื้นผิว 1,000 เท่า
"หมอธีระ วรธนารัตน์" เผยความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แพร่ผ่านทางละอองฝอยขนาดเล็กอากาศ มากกว่าสัมผัสบนพื้นผิว 1,000 เท่า
"หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัพเดทข้อมูลโควิด-19
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมากตั้งแต่ 1 พ.ค. เพราะหน่วยงานไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19)
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 24.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 49 วันแล้ว
ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น หลังจากติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมา 19 วัน ล่าสุดหยุดสถิตินี้ไว้ได้แล้วเนื่องจากจำนวนลดลงหลังจากปรับรายงานเฉพาะ Death from COVID-19...
อัพเดตงานวิจัย Long COVID...
NEJM Journal Watch วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทบทวนงานวิจัยเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อสมอง
โดยสรุปงานวิจัยสำคัญจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเปรียบเทียบผลการตรวจสมองด้วยการทำ MRI และการทดสอบความคิดความจำ (cognitive test) จำนวน 2 ครั้ง ในกลุ่มที่มีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างระยะเวลาที่ติดตามนาน 18 เดือน จำนวน 401 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 384 คน ทั้งนี้มีเพียง 4% ของผู้ติดเชื้อที่ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้จะติดเชื้อโดยป่วยเล็กน้อยก็ตาม จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองหลายอย่าง ทั้งขนาดสมองที่ลดลง, เนื้อสมอง gray matter ในส่วน orbitofrontal cortex และ parahippocampal gyrus บางลง, และสมรรถนะด้านความคิดความจำลดลง
การเปลี่ยนแปลงของสมองดังกล่าวนั้นจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด? จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะ Long COVID หรือไม่? และจะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมในอนาคตหรือไม่? ยังเป็น 3 คำถามสำคัญ ที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็น
การศึกษาจากสหรัฐอเมริกาประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อในอาคาร ในรถบัส และในพื้นที่มหาวิทยาลัย
สรุปสั้นๆ ว่า
...ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ผ่านทางละอองฝอยขนาดเล็กอากาศ (aerosol transmission) นั้นมากกว่าการติดจากการสัมผัสไวรัสที่เกาะบนพื้นผิวต่างๆ (surface) ถึง 1,000 เท่า...
นี่จึงเป็นความรู้ที่ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของ "การใส่หน้ากาก" ระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน