เปิดอาการ "โรคฝีดาษลิง" ไขข้อสงสัยทำไม กลุ่มเสี่ยงคือคนเกิดหลัง พ.ศ. 2523
เผยอาการโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ไขข้อสงสัยทำไมคนเกิดหลัง พ.ศ. 2523 ถึงเสี่ยงกว่ากลุ่มอายุอื่น
จากกสถานการณ์ในขณะนี้เรียกได้ว่ามนุษย์เรากำลังเผชิญภาวะน่ากังวลอีกครั้ง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็ยังไม่คลี่คลายลง แต่จู่ๆก็มีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในแถบทวีปยุโรป ซึ่งมีการระบาดไปแล้ว 15 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้ป่วยราว 100 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้คาดการณ์ว่าจะพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยมีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นแหล่งนำโรค แต่ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้เช่นกัน ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือ พ.ศ. 2493 โดยค้นพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง จึงถูกตั้งชื่อว่า "ฝีดาษลิง"
-ประเทศแรก ออกมาตรการเข้ม "ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง" ต้องกักตัว 21 วัน
-"หมอธีระวัฒน์" เผย ความแปลกของ "ฝีดาษลิง" ในยุคปลายโควิด
-สธ. "เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง" ห่วงคนเกิดหลังปี 2523 ยังไม่เคยฉีดวัคซีน
โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในอดีต โดยมีไวรัส 2 สายพันธุ์หลักคือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลาง ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ความรู้เรื่องการติดต่อของโรคฝีดาษลิงว่า คนสามารถติดโรคนี้ได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ , ถูกสัตว์มีเชื้อกัดข่วน , การกินเนื้อปรุงสุกไม่เพียงพอ , ติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย ,การแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังเป็นตุ่ม อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ (พบได้น้อย)
นอกจาากนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการปลูกฝี หรือก็คือฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
โรคฝีดาษลิงมีอาการอย่างไร
- มีไข้
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัว 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน อาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่หายจากโรคเองได้ แต่ทั้งนี้ก็มีเคสที่อาการรุนแรงจนทรุดและเสี่ยงเสียชีวิตได้เหมือนกัน โดยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดในเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมทั้งคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , โรงพยาบาลพระราม 9