เตรียมเฮ! ครม. เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมเสนอ เข้าสภาฯ เร็วๆ นี้
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมเสนอ เข้าสภาฯ เร็วๆ นี้ กำหนดหลักเกณฑ์คล้ายคู่สมรส ผู้ชาย - ผู้หญิง
เมื่อโลกเปลี่ยนไป ความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่เรื่องที่แปลก หลายประเทศทั่วโลกยอมรับถึงการมีอยู่ และการขับเคลื่อนโลกด้วยคนทุกเพศ ยิ่งในเด็กยุคใหม่ เสื้อผ้า คำเรียก ความสามารถ แสดงให้ประจักษ์แล้วว่า มนุษย์ไม่มีคำนิยามเรื่องเพศ นอกเสียจากอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ กฎหมาย ไปไม่ถึงจุดนั้น จึงต้องมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.คู่สมรส ขึ้นมา ล่าสุด คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมเสนอ เข้าสภาฯ เร็ว ๆ นี้
สำหรับการผลักดันมานาน พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีการร่างมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่กลายเป็นประเด็นร้อน #สมรสเท่าเทียม เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจาก หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องของ คู่รัก LGBTQ ที่ร้องว่า ม. 1448 ของประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุว่า การสมรส ต้องกระทำโดย ชาย - หญิง เท่านั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจาก คุ้มครองเกี่ยวกับ ศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ได้คุ้มครองของบุคคลไว้เฉพาะ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย แต่ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรตรากฏหมายเพื่อรับรองสิทธิ และ หน้าที่ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป คำถามสำคัญคือ แล้วกฎหมายที่รับรองสิทธิของ LGBTQ ถึงจุดไหนแล้ว
ล่าสุดมีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งได้นำความเห็นจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำศาสนาทุกศาสนามาประกอบการพิจารณา
โดยให้เขียนขึ้นเป็น ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่แยกออกมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้มีความชัดเจนในข้อหมาย เช่น
- กำหนดสถานะของคู่สมรส ที่จะแตกต่างจาก ชาย-หญิง โดยกำหนดให้ใช้ว่า "คู่ชีวิต"
- กำหนดให้ผู้ที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องมีอายุ 17 ปี ขึ้นไปและรับการยินยอมจาก บิดามารดา
- กำหนดให้มีสิทธิคล้ายคู่สมรสชายหญิง ทั้งสวัสดิการข้าราชการ การแบ่งสินสมรส การจดทะเบียนหย่า หรือแม้แต่ การทำธุรกรรมทางการเงิน ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป แต่อาจ มีเงื่อนไขบางประการ ที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้แน่นอน แต่ยังไม่ยืนยันว่าจะประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่าวันนี้ ครม.มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสากล
"การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน ซึ่งกระทบต่อกฎหมายเดิมในหลายฉบับ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคต่อกัน เพราะความเป็นครอบครัวส่งผลผูกพันในหลายเรื่อง เช่น มรดกทรัพย์สินความเป็นทายาท รวมไปถึงบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ และหลังจากนี้จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป"
สำหรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่างกันอย่างไร? มีอธิบายให้ฟังเข้าใจง่ายๆ ก็คือ
- พ.ร.บ.คู่ชีวิต
ผลักดันโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม บัญญัติกฎหมายใหม่ขึ้นมา มีคำเรียกคู่รัก LGBTQ ว่า คู่ชีวิต คือ คนเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนร่วมกันได้ แต่ คู่ชีวิต ไม่เท่ากับ คู่สมรส สิทธิบางสิทธิยังได้ไม่ครบ
เช่น
- คู่สมรส รับสวัสดิการรัฐหรือเอกชนของอีกฝ่ายได้
- คู่สมรส ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เมื่อจดทะเบียน แต่ คู่ชีวิตทำไม่ได้