โรคฝีดาษลิง ติดเชื้อได้ทางไหนบ้าง ทำความเข้าใจโรคลดความเสี่ยง
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา เผยว่าไวรัส “ฝีดาษลิง” สามารถติดเชื้อได้หลายช่องทาง ไม่ได้แพร่เฉพาะผ่านทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น เตือนประชาชนทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงของโรคชนิดนี้
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 65 นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงภายหลังการหารือกับคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร เมื่อวันที่ 23 ก.ค. โดยประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ซึ่งเป็นระดับการเตือนขั้นสูงสุดแล้ว หลังจากมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วโลกมากกว่า 16,000 ราย ใน 75 ประเทศ โดยล่าสุดมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 5 ราย
ล่าสุด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เรื่อง ช่องทางการแพร่เชื้อของไวรัสฝีดาษลิง โดยระบุว่า
ไวรัสฝีดาษลิง ไม่ได้แพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่การติดเชื้อสามารถเกิดได้หลายช่องทาง หลักๆคือ
1. การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผล หรือ สารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่
2. การรับเชื้อจากละอองฝอย จากการคุยกันกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ จากกิจกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกันมากๆ เช่น การกอดกัน จูบกัน หรือ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
3. ผ่านการสัมผัสสิ่งของ หรือ วัตถุ ที่มีการเจือปนของไวรัสที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือ โทรศัพท์มือถือ
4. รับเชื้อผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านทางรก
5. รับจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
ความเสี่ยงจากการติดเชื้อเกิดขึ้นมากกว่ากิจกรรมทางเพศตามที่หลายคนอาจเข้าใจผิดกันไปนะครับ