"เครือเนชั่น"จัดงาน Thailand Survival ระดมเเนวคิด ทางรอดประเทศไทยพ้นวิกฤต
เครือเนชั่น จัดงาน Thailand Survival "ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก" ระดม นักธุรกิจ,นักการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแนะแนวทางประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต
เครือเนชั่น จัดงาน Thailand Survival "ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก" ในวันที่ 1ส.ค.65 ที่ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยงานนี้ได้ระดม นักธุรกิจ,นักการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแนะแนวทางประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต ก้าวสำคัญเพื่อพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ
โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา กล่าวตอนหนึ่งในงาน แนะ 5 แนวทางพาไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เสนอรัฐเร่งฟื้นฟูท่องเที่ยว-แก้ไขปัญหาราคาสินค้า-พลังงานแพง พาไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดย ภาพรวมที่เกิดขึ้นกับไทย คือโลกและตัวเรา โดยขอเสนอแนวทางของไทยเป็น 2 ส่วน เริ่มที่ปัญหาเฉพาะหน้า วันนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเงินเฟ้อ สงคราม การที่จะหวังนักลงทุนคงลำบาก นักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามามากขณะนี้ลดลง ดังนั้นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม SME ที่มีความเป็นห่วงหากอยู่ไม่ได้ แล้ววันหนึ่งหากนักท่องเที่ยวกลับมาจะทำอย่างไร วันนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดคือท่องเที่ยว เขาไม่ต้องการความเชื่อมั่นอะไรยาวๆ เหมือนนักลงทุน แค่มาเที่ยวแล้วปลอดภัย รวมถึงเสริมความง่ายในการเข้าประเทศ จะช่วยส่งเสริมในส่วนนี้ จากนั้นเรื่องสินค้าราคาแพง ไฟฟ้าจะขึ้นราคาอีก รัฐบาลต้องลงมาช่วยเรื่องสินอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง และพลังงานที่แพงที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังนั่นเอง
ขณะที่ช่วงฟื้นฟูหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เราจะต้องเตรียมการสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป และประเทศไทยต้องหาตัวตนของตนเอง โดยเสนอ 5 เรื่อง คือ หาตัวตนหาจุดแข็งของไทยและนำมาใช้ โดยมองว่าของเราคือด้านเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ถัดมาต้องรีสตาร์ทเรื่องพลังงาน ที่เราผูกติดกับพลังงาน ควรจะมาใช้พลังงานทดแทนให้มาเป็นพลังงานหลัก
ในขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวในหัวข้อเศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร ? ในงานสัมมนา Thailand Survival ฝากการบ้านรัฐบาล 8 เดือนสุดท้ายอย่าโหมประชานิยม โดย ประเทศไทยเราเจอมาหลายวิกฤต และเศรษฐกิจเราไม่เคยขยายตัวได้เกิน 4% มาตั้งแต่ปี 2557 ถ้ามองระยะยาว ผู้บริหารประเทศต้องคิดว่าอะไรคือกับดักการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เราเคยได้ถึง 4.1% ในปี 2561 แต่ก็ถูกกดดันจากหลายเรื่องจากปัญหาภายนอกและโควิด-19 จนเศรษฐกิจลงไปต่ำถึง -6.1%
ดังนั้น เราต้องฝากความหวังไว้กับ 8 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อรักษาโอกาสการแข่งขันของประเทศ และสถานะของประเทศในระยะยาว แต่ในช่วงเวลา 8 เดือนสุดท้ายก็ค่อนข้างที่กังวลเรื่องโครงสร้างการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
รัฐบาลนี้มี ครม. เศรษฐกิจแยกส่วน แต่ขณะนี้วิกฤตชาติใหญ่เกินกว่าจะมองแค่เฉพาะพรรค ใหญ่เกินกว่าจะมองเฉพาะกระทรวง ผ่านมา 3 ปีครึ่งผมยังไม่เห็นการทำงานแบบวอร์รูมเกาะติดแบบบูรณาการ เชิงทำงานในแบบแนวคิดและเกาะติดที่จะแก้ปัญหาเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศแบบจริงจัง พร้อมเสริมด้วยว่า และที่ห่วงอย่างยิ่งก็คือ 8 เดือนนี้ใกล้เลือกตั้ง กังวลใจว่าจะเป็นการบริหารเชิงหาเสียง เชิงประชานิยม ที่จะซ้ำเติมประเทศไทยมากขึ้น
ด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ชี้ทางรอดจากวิกฤตโลก ระบุว่า วิกฤติที่เผชิญอยู่ขณะนี้เป็นวิกฤติแบบฉับพลัน วิธีและเครื่องมือในปัจจุบันใช้ไม่ได้อีกต่อไป พร้อมเสนอทฤษฎี "ไม้เสียบลูกชิ้น" ออกกฎหมายหนุนเรื่องเด่นของประเทศ อย่างการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ , ส่งเสริมเรื่อง EV , เกษตรกรรม เปลี่ยนโฉมระบบราชการ อย่าคิดว่าเอกชนเป็นเพื่อนและหวังแค่เอกชนจะได้กำไรอย่างเดียว เปิดทางรายย่อย-SMEs เข้าถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
ในส่วนของ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในงาน "Thailand Survival ไทย.. จะรอดอย่างไรในวิกฤตโลก" จัดโดยเครือเนชั่น ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการรับมือปัญหาในอนาคต รวมถึงปัญหาสังคมผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันคนวัยทำงานน้อยลง โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว และอุตสาหกรรมต่างๆต้องปรับตัว ต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาให้ความรู้ด้านการเงิน ซึ่งเป็นต้นตอของการเกิดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ มีความรู้เรื่องการบริหารการเงิน
เเละ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งในงาน Thailand Survival ไทย.. จะรอดอย่างไรในวิกฤตโลก ว่า โจทก์วันนี้คือเศรษฐกิจของประเทศไทยจะก้าวเป็นอย่างไร เพราะหากปล่อยให้ก้าวไปตามยถากรรมจะเป็นก้าวที่เจ็บปวด ดังนั้นเพื่อไทยขอเสนอ 6 ก้าวสำคัญที่จะให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤต ได้ใน 6 เดือน และจะเจ็บตัวน้อยที่สุด
"รัฐบาลต้องอัดฉีดมาตรการ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว ต่อมาต้องลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นการจ้างงาน หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลวันนี้ เราจะมีสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน มีมาตรการช่วยเอกชนเรื่องค่าจ้าง จากการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ต้องมีทลายกับดักหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นกับดักระเบิดลูกใหญ่ และถูกเร่งปฏิกิริยาจากกันปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐจะต้องซื้อเวลาและช่วยในเวลาสั้นคือ การพัก รวม ยื่น ลดหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ "
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยผ่าน งาน สัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก ในนามนายกสมาคมชาวนาฯ จะฉายภาพให้เห็นว่าเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศ มีจำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน คือ มีชาวนาประมาณ 16-18 ล้านคน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 62 ล้านไร่ ซึ่งสถานะของชาวนาในประเทศไทยเป็นฐานรากหญ้า อยากให้ฝ่ายต่างๆ ให้ความสำคัญกับเกษตรกร เพราะถ้าไม่มีชาวนา ก็ไม่มีข้าวรับประทาน ไม่มีการส่งออก
สถานะชาวนา เหมือนลูกที่ถูกลืม แล้วหากพรรคการเมืองไหนอยากจะช่วยอยากให้ลงมาดูว่า เราต้องการอะไร ลำบากตรงไหน เพราะปัจจุบันชาวนาเหมือนโดนถูกกระทำ โดนตัดงบ พอจะถึงมือชาวนาจริงกลับถูกเบียดบังไป ซึ่งชาวนาก็ไม่พูด และวันนี้ที่กำลังต่อสู้ในโครงการที่ชาวนาพึงจะได้รับ แต่กลับไม่ได้รับก็อยากให้นักการเมืองมาดู แล้วมาติดต่อกับผมโดยตรง ผมจะอธิบายให้ฟังว่าเป็นอย่างไร
ต้นทุนชาวนา สูงมาก ผมไม่ขอมาก ขอไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 20 ไร่ ให้ช่วยมาเบื้องต้น เพราะเราจะไปต่อยอดที่ลงทุนไปแล้วในตอนนี้ ซึ่งสมาคมกำลังตรวจสอบอยู่ที่ภาครัฐนำเงินนโยบายออกมานี้ต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว สูงสุดได้รับครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท ชาวนาขอแค่นี้ อยู่ได้แล้ว ไม่ขอไปมากกว่านี้
เเละ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้รอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ไทยเผชิญ 6 คลื่นใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันไปให้รอด คลื่นลูกที่ 1 ดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) คลื่นลูกที่ 2 สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน คลื่นลูกที่ 3 โควิด-19 (COVID-19) คลื่นลูกที่ 4 สงครามรัสเซีย-ยูเครน คลื่นลูกที่5ภาวะถดถอย (Recession) และคลื่นลูกที่ 6 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) พร้อมชี้ว่า ภายใต้ทุกวิกฤติยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทย จี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน