"ทส"เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 7
“ทส”เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 7 พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมพัฒนางานด้านวิจัยทางทะเล เพื่อก้าวสู่ระดับสากล
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 7 ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจากนาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อทะเลที่ยั่งยืน (Science,TechnologyandInnovationforSustainableSeas)”
โดยมีนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิจัย นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 700 คน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5–7กันยายน 2565ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร
นายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวบนเวทีปาฐกถาว่า การบริหารจัดการทรัพยากรในมหาสมุทรและทะเลมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ ทรัพยากรทางทะเลได้สร้างประโยชน์มหาศาลในการหล่อเลี้ยงชีวิต อย่างไรก็ดี ปัญหาท้องทะเลไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมและยกระดับงานวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นับเป็นแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการต่อยอดเพื่อการแข่งขันสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ และด้วยศักยภาพนักวิจัยของประเทศไทยที่มีการศึกษาและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากรัฐบาลและแหล่งทุนทั่วโลก ส่งผลให้การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทยมีการดำเนินงานแบบก้าวกระโดด เป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยมาโดยตลอด
และในวันนี้ (5 กันยายน 2565) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดการประชุมวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 7ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อทะเลที่ยั่งยืน” เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัย นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป
ได้มีเวทีในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนางานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
สอดรับกับการดำเนินการทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2021–2030(TheUNOceanDecade)ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม TheUNOceanDecadeKickoffConferenceforWesternPacificanditsAdjacentAreasเป็นภูมิภาคแรกของโลกเมื่อวันที่ 25–26 พฤศจิกายน 2564ที่ผ่านมาอีกทั้งประเทศไทยยังได้รับคัดเลือกให้เป็นที่จัดตั้งสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร (DecadeCoordinationOffice:DCO)ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการจัดตั้งสำนักงาน DCO นี้ จะเป็นช่องทางให้ประเทศไทยได้มีโอกาสในการขับเคลื่อนงานด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลภายใต้วิสัยทัศน์แห่งทศวรรษมหาสมุทร “วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อมหาสมุทรที่เราต้องการ”“นายวราวุธ กล่าว”
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่7กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งด้านขององค์ความรู้ และบุคลากรที่มีศักยภาพ ในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศึกษา วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นการยกระดับการพัฒนางานด้นวิชาการและเปิดโอกาสให้นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ พัฒนาองค์ความรู้และนำเสนอนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีเวทีนำเสนอผลงานและพัฒนาต่อยอดสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ ต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)เศรษฐกิจหมุนเวียน (CircularEconomy)และเศรษฐกิจสีเขียว (GreenEconomy)หรือ BCGModelเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหงสามารถสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เศรษฐกิจสังคมของชุมชนชายฝั่งทะเล และมีสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติในหลายจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความจำเป็น ของประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ สร้างความเข้มแข็ง ด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการขยายเครือข่ายการวิจัยในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อให้สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไป