สถานการณ์โรคไข้เลือดออก อันตรายจากยุงลาย
โรคไข้เลือดออกนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของโรคไข้เลือดออกแม้จะไม่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
จากรายงาน รง.506 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สัปดาห์ที่ 35 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 22,543 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,904 ราย เสียชีวิตสะสม 18 ราย เพิ่มขึ้น 1 ราย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน และผู้ที่ได้รับยาหรือซื้อยาในกลุ่ม NSAIDs กินเอง และเนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ อาจมีแหล่งน้ำขังและเป็นที่วางไข่ของยุงลายได้ ให้หมั่นสำรวจแหล่งน้ำขัง พวกเศษขยะ แก้วน้ำ กระป๋อง จัดเก็บให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้บ้านของคุณปลอดจากโรคไข้เลือดออก
1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงมีที่เกาะพัก
2.เก็บขยะที่อาจเป็นแหล่งน้ำขัง ให้ยุงลายวางไข่ได้
3.เก็บน้ำให้มิดชิด ด้วยการปิดฝาภาชนะ หากปิดไม่ได้ให้เทน้ำทิ้ง ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่
สังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกได้ ดังนี้
- มีไข้สูง 39 – 40 องศา เกิน 2 วัน
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
- อ่อนเพลีย ซึมลง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- เบื่ออาหาร อาเจียน
- อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง
- อุจจาระมีสีดำ
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดหนักมากในช่วงฤดูฝน โดยมีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากการดูแลตนเอง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อ เราสามารถป้องกันตนเองด้วยวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine) ซึ่งเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันอาการป่วยด้วยไข้เลือดออกได้ โดยประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหน้าที่จะได้รับวัคซีน และอายุของผู้ได้รับวัคซีน