หมอธีระ แนะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ
"หมอธีระ วรธนารัตน์" เผยข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 แนะผู้ติดเชื้อควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา "หมอธีระ" หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 แนะผู้ติดเชื้อควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ
เมื่อวาน (9 ธ.ค. 65 ) ทั่วโลกติดเพิ่ม 363,739 คน ตายเพิ่ม 866 คน รวมแล้วติดไป 652,794,226 คน เสียชีวิตรวม 6,656,157 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.31 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.82
อัพเดตการระบาดในอเมริกา
ล่าสุดพบว่า โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BQ.1.x ครองการระบาดถึงเกือบ 70% (BQ.1.1 36.8%, BQ.1 31.1%) ส่วน BA.5 เหลือเพียง 11.5%
ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยอื่นๆ รวมถึง XBB นั้นยังมีสัดส่วนน้อยมาก
ด้วยลักษณะการระบาดของ BQ.1.1 ในอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะกระจายไปที่อื่นๆ ทั่วโลก จากการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงในไทย
ถ้าจะประเมินเงื่อนเวลาที่เหลื่อมกันนั้น หากดูจากสายพันธุ์ก่อนๆ ที่เคยมีมาย่อมตกอยู่ในช่วง 1.5-2.5 เดือน แต่ความช้าเร็วนั้นจะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องพฤติกรรมป้องกันตัวของประชาชน นโยบายการควบคุมป้องกันโรค ความครอบคลุมของวัคซีนและเวลาที่ฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในสังคม เช่น ความหนาแน่นของประชากร กิจกรรมเสี่ยงที่มี สถานที่เสี่ยง การระบายอากาศ
การระบาดในจีน
ข่าวจาก Financial Times ชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 ในจีนนั้นมีมาก แม้จะเห็นนโยบายผ่อนคลายลง แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายนั้นอาจเป็นผลมาจากการระบาดที่เพิ่มเร็วเกินกว่าระบบสุขภาพจะรองรับได้ โดยสังเกตจากความแออัดในสถานพยาบาล และการขาดแคลนเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยาลดไข้ เป็นต้น
คงต้องเอาใจช่วยประเทศจีนให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้โดยเร็ว
สำหรับไทยเรานั้น
จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวสม่ำเสมอ ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือนแล้ว เลี่ยงการกินดื่มคลุกคลีใกล้ชิดกับคนอื่นนอกบ้าน ไม่แชร์ของกินของใช้กัน เลือกใช้บริการร้านอาหารกินดื่ม ที่ไม่แออัด ระบายอากาศดี และพนักงานใส่หน้ากากป้องกันตัว ถ้าไม่ใส่ ควรเลี่ยงไปใช้บริการที่อื่น ไปทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว ควรใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง เป็นกิจวัตร จะช่วยลดความเสี่ยงแพร่เชื้อติดเชื้อลงไปได้มาก
หากไม่สบาย ตรวจ ATK เป็นบวก แปลว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วันจนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำแล้วได้ผลลบ จึงค่อยออกมาใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์
หากไม่สบาย (อาทิ ไอ เจ็บคอ ไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ) แต่ตรวจครั้งแรกได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจเป็นผลลบปลอม ควรตรวจซ้ำทุกวันจนครบ 3 วัน ความใส่ใจสุขภาพ เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรามีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน
ขอบคุณ Thira Woratanarat
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews