รู้จัก มะเร็งหลังโพรงจมูก อาการแรกเริ่มคล้ายโรคทั่วไป อย่าชะล่าใจเด็ดขาด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้เรื่อง "มะเร็งหลังโพรงจมูก" ภัยเงียบที่ซ่อนเร้น อาการคล้ายคลึงกับโรคที่พบได้ทั่วไป
อีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังจากที่นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า #มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2.5 เท่า ผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ยวันละ 4 คน เสียชีวิต เฉลี่ยวันละ 2 คน (สถิติ Cancer in Thailand Vol.X,2016-2018 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และและสถิติสาธารณสุข ปี 2564)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมีหลายปัจจัย ได้แก่
- การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง
- อาหารที่มีสารไนโตรซามีน เป็นประจำ
- การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV)
- ความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่นเชื้อชาติจีน และประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
โดยนายแพทย์เอกภพ แสงอริยวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง หู คอ จมูก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
อาการของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีหลายอาการ เช่น
คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง รักษาแบบโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด ปวดศีรษะ ตามองเห็นภาพซ้อน มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ ชาบริเวณใบหน้า ปวดหัวและมีก้อนคอ การวินิจฉัยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกนั้น
แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้องภายในจมูกเพื่อดูหลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น เนื้อนูน ผิวขรุขระมีเลือดซึม แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นออกมาตรวจ และต้องตรวจเพิ่มเติมว่าโรคมีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่
การรักษาหลัก ๆ มี 3 วิธี ได้แก่
การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลัก ส่วนการผ่าตัดอาจมีบทบาทในรายที่เป็นซ้ำ แต่เนื่องจากอาการแสดงของโรคคล้ายกับโรคที่พบได้ทั่วไป เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่า ตนเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ กว่าจะทราบว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกก็เมื่อโรคเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว
มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและมีโอกาสหายได้เมื่อตรวจพบและได้รับการรักษาในระยะเริ่มแรก การป้องกันการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกเบื้องต้น
ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผักและผลไม้สดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่
การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงรับควันบุหรี่ และคอยหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ เมื่อพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ "โรคมะเร็ง รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันได้" สามารถศึกษาข้อมูลข่าวสารโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง คลิก เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง คลิก
ขอบคุณ กรมการแพทย์