อ่วมอีก สิ้นเดือนนี้ "พายุฤดูร้อน" อีกลูกจ่อถล่มลากยาวถึงต้นเดือนหน้า
วันที่ 27 เมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ เตือน อีก 2 วัน พายุฤดูร้อนลูกใหม่จ่อถล่มหลายพื้นที่ยาวถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2566
เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า คาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เตือนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นอีกระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2566 ถึง 1 พฤษภาคม 2566 รายละเอียดดังนี้
ในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. และ 2 - 3 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 66 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
ออกประกาศ 27 เมษายน 2566 12:00 น.
คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ภาคเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวัน 27 – 28 เม.ย. 66 และ 2 - 3 พ.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36 – 43 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10 – 15 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค. 66 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. และ 2 – 3 พ.ค. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35 – 40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 27 - 28 เม.ย. และ 2 - 3 พ.ค. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 – 40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. และ 2 – 3 พ.ค. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 39 องศาเซลเซียส
ส่วนในวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 37 องศาเซลเซียส
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่
ส่วนในวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 30 ของพื้นที่
ส่วนในวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 37 องศาเซลเซียส
กรุงเทพและปริมณฑล
ในช่วงวันที่ 27 - 28 เม.ย. และ 2 - 3 พ.ค. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ ลมใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 39 องศาเซลเซียส
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 37 องศาเซลเซียส
ขอบคุณ กรมอุตุนิยมวิทยา