ส่องเงินเดือน กกต. ในสมบทบาทสำคัญ ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากทุกฝ่าย
ส่องเงินเดือน กกต. ในสมบทบาทสำคัญ ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากทุกฝ่าย หลังเจอ 2 แฮชแท็กเดือด เซ่นความผิดพลาด เลือกตั้งล่วงหน้า 2566
จาก #กกตมีไว้ทำไม ที่เดือดดาลทั่วโลกออนไลน์ สู่ #กกตควรติดคุก เนื่องจากเมื่อครั้ง เลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ประชาชนสังเกตเห็นหลายอย่างของความไม่โปร่งใส ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 5 ข้อหลักใหญ่ๆ ได้แก่
1. ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับไม่มีชื่อของตน ซึ่งอาจเป็นปัญหาระบบ
2. ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับมีคนมาลงคะแนนเสียงไปแล้ว เพราะ "ถูกสวมสิทธิเลือกตั้งแล้ว"
3. เจ้าหน้าที่ติดใบประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ครบถ้วนทุกคน ทุกพรรค โดยพบปัญหานี้ในสถานที่เลือกตั้งกลางหลายพื้นที่ อาทิ เขตหนองแขม กทม., เชียงใหม่, กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา
4. เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และแต่ละหน่วยเลือกตั้งก็ปฏิบัติไม่เหมือน เช่น การบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมาลงเอกสาร (ส.ส. 5/5) และต้องติดประกาศไว้ที่หน้าหน่วยก่อนเปิดให้ลงคะแนนเสียง แต่บางหน่วยก็ไม่ติดประกาศ ทำให้ถูกทักท้วง หรือบางหน่วยติดประกาศ แต่เขียนผิดช่อง และเมื่อการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ลงเอกสาร ส.ส. 5/7 แต่เจ้าหน้าบางส่วนกลับปิดหีบเลือกตั้ง ปิดผนึก และลงชื่อกำกับเลย ซึ่งจริง ๆ ต้องแยกบัตรเลือกตั้งให้ไปรษณีย์ก่อน
5. เจ้าหน้าที่กรอกรหัสหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งผิด โดยเขียนรหัสเขตเลือกตั้งผิด หรือกรอกรหัสจังหวัดผิด หรือไม่ตรงกับตามภูมิลำเนาอันเป็นเขตเลือกตั้งจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็น "เรื่องใหญ่ที่สุด และกระทบต่อสิทธิผู้เลือกตั้งโดยตรง" และ "ที่น่าเสียใจคือ เมื่อผู้มีสิทธิทักท้วง แต่กรรมการประจำหน่วยกลับยืนยันว่าทำถูกแล้ว จนตอนเย็น กกต. ถึงออกมายอมรับว่าผิดจริงๆ"
ทั้งนี้ ความหมายของ กกต. ย่อมาจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหน้าที่คือเป็นผู้ควบคุม และดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนักงานเลขานุการ
ด้าน กกต. จะมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด 16 ข้อ ดังนี้
1.ควบคุมดูแลและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม
2.ออกระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติงาน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
3.มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง
4.ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามกฎหมาย
5.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
6.สืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
7.สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง การเลือก การออกเสียงประชามติ และสั่งให้มีการเลือกตั้ง เลือก ออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง
8.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้นั้นกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต หรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
9.การดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง
10.ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
11.มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
12.ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
13.การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
14.ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าหน้าที่ของ กกต. คือการให้การศึกษาแก่ประชาชนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
15.จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
16.ดำเนินการเรื่องอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด
หากสรุปสั้นๆ หน้าที่ของ กกต. มีอำนาจหน้าที่หลักอยู่ 3 ประการคือ
1.จัดการเลือกตั้ง คือการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ
2.สืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัย คือ การสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภา ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
3.ออกกฎระเบียบ คือ การออกกฎระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
ขณะที่ เงินเดือนของ กกต. จากการตรวจสอบข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 61 เผยแพร่พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ และกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 โดยตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังนี้
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
กรรมการการเลือกตั้ง
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 130,540 บาท
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 123,040 บาท
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 123,040 บาท
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 123,040 บาท
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 123,040 บาท
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา