ผบช.ก. สั่งเด้งด่วน ผู้การทางหลวง เซ่นปมร้อน "ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก"
ผบช.ก. สั่งเด้งด่วน พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้การตำรวจทางหลวง เซ่นปมร้อน ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ถูกวิจารณ์สนั่น หลังนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดโปง
เรียกได้ว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างมากขณะนี้กับประเด็น ส่วยสติกเกอร์ หรือ สติกเกอร์ส่วยรถบรรทุก งานนี้ทำเอาวงการตำรวจทางหลวงต้องสะเทือน ทำให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.คร. มีคำสั่งให้ พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบกรณีสติกเกอร์รถบรรทุก หลังมีการร้องเรียนจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ได้เปิดโปงข้อมูลดังกล่าว
และหลังจากเรื่องส่วยรถบรรทุกกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ล่าสุด วันที่ 30พ.ค.66 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้ลงนามคำสั่งกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ 172/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค.2566 ให้ พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
โดยให้ขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม พร้อมกันนี้ ยังได้ลงนามคำสั่งที่ 173/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค.2566 ให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ผบก.ทล. อีกตำแหน่ง โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมดเป็นไปด้วยความโปร่งใส
ด้าน พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือสั่งการแต่งตั้งให้ตรวจสอบกรณีสติกเกอร์รถบรรทุกจากพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่มีการร้องเรียนจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นผู้ออกมาเปิดโปงข้อมูลดังกล่าว
โดยได้สั่งการให้จเรตำรวจทั่วประเทศลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ อีกทั้งยังจะต้องมีการเชิญนายวิโรจน์ และนายกสมาพันธ์รถบรรทุกแห่งประเทศไทย รวมทั้งตำรวจทางหลวงที่ถูกพาดพิงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการรับส่วยเข้ามาให้ข้อมูลด้วย ซึ่งกระบวนการตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการเชิญคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเรื่องตำรวจหรือ ก.ร.ตร. ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ตำรวจระดับผู้บัญชาการขึ้นไป ผู้แทนระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล และจเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ
รวมทั้งหมด 10 คนมาร่วมพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบจะมีความเข้มข้น และภายหลังจากคณะกรรมการฯมีมติแล้วจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน และจะส่งเรื่องไปให้กับผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดพิจารณาลงโทษทันที คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่านายวิโรจน์จะไม่เดินทางเข้ามาให้ข้อมูลที่ได้เคยเปิดโปงไว้ ทางตำรวจก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะนำพยานหลักฐานต่างๆที่จเรตำรวจได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศรวบรวมมาให้กับคณะกรรมการฯพิจารณา หากพบว่ามีมูลความผิดก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับตำรวจทุกนายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง