เผยเส้นตาย 5 ชีวิต "เรือดำน้ำไททัน" สูญหายระหว่างพาชมซากเรือไททานิค
เผยเส้นตาย 5 ชีวิต ผู้โดยสารเรือดำน้ำไททัน สูญหายระหว่างพาชมซาก เรือไททานิค เจ้าหน้าที่จำกัดวงค้นหา ผู้เชี่ยวชาญเผยสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ออกซิเจนใกล้หมด
ยังคงค้นหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ เรือดำน้ำ ไททัน (TITAN) ที่สูญหายไปตั้งแต่วันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางลงไปชม ซากเรือไททานิค (Titanic) ซึ่งความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลังจากเครื่องบินของแคนาดาตรวจพบเสียงจากใต้น้ำ ทำให้ขณะนี้เรือที่เข้าร่วมภารกิจจำกัดวงการค้นหาไว้ที่พื้นที่มหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐอเมริกา และมณฑลนิวฟันด์แลนด์ของ แคนาดา
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์การสัญจรทางทะเล "มารีน แทรฟฟิก" (Marine Traffic) แสดงให้เห็นว่าเรืออย่างน้อย 11 ลำ ได้พุ่งเป้าการค้นหาไปที่พื้นที่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกด้าน นาวาเอก เจมี เฟเดอริก นาวาเอก เจมี เฟรเดอริก (Jamie Frederick) หัวหน้าหน่วยรักษาชายฝั่งเขต 1 ในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ให้รายละเอียดว่าจุดที่ค้นหาอยู่ห่างจากคาบสมุทรเคปคอด (Cape Cod) ของรัฐแมสซาชูเซตส์ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1,350 กิโลเมตร และ อยู่ห่างจากเมืองเซนต์จอห์น มณฑลนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดาไปทางทิศตะวนออกเฉียงใต้ประมาณ 640 กิโลเมตร
ทั้งนี้ การจำกัดวงค้นหาเกิดขึ้นหลังจากที่เครื่องบิน P-3 ของแคนาดา ตรวจพบเสียงใต้น้ำในพื้นที่ค้นหา จึงได้เปลี่ยนตำแหน่งการค้นหาด้วยยานควบคุมระยะไกล (ROV) เพื่อพยายามหาต้นตอของเสียง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่พบอะไร แต่จะทำการค้นหาต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ สื่อสหรัฐฯ รายงานอ้างบันทึกข้อความภายในของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับความคืบหน้าการค้นหาว่า ทีมค้นหาตรวจพบเสียงทุบหลายครั้ง ห่างกัน 30 นาที มาจากพื้นที่ค้นหา และยังคงตรวจพบเสียงนั้นหลังเวลาผ่านไป 4 ชั่วโมง
หน่วยงานค้นหาประเมินว่าปริมาณออกซิเจนบนยานดำน้ำไททันเหลือให้ผู้ที่อยู่บนเรือได้หายใจจนถึง 06.00 น. ของวันนี้ตามเวลาชายตะวันออกของสหรัฐ หรือ 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
ขณะที่ ฟิลิปเป เอเพลบอม (Philippe Epelbaum) นักขับเรือดำน้ำชาวสวิสระบุว่าวิธีการที่จะช่วยประหยัดออกซิเจนขณะอยู่ในยานพาหนะใต้น้ำคือต้องมีสติ เพราะหากเกิดความเครียดขึ้นร่างกายจะใช้อ๊อกซิเจนเพิ่มขึ้นอีก 2 หรือ 3 เท่า ขณะที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกซด์ ซึ่งออกมาพร้อมกับลมหายใจจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้แคลเซียมคาร์บอเนตยังเป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นก๊าซออกซิเจน ซึ่งหากสารประกอบในส่วนนี้หมดไปก็จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลเช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก OceanGate Expeditions และ Hamish Harding