กรมศุลกากร แจง ปมดราม่ายึดทุเรียนลักลอบนำเข้า 8 ตัน จ่อดำเนินคดีคนปล่อยข่าว
ดราม่ายึดทุเรียนลักลอบนำเข้า 8,420 กิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท ล่าสุดกรมศุลกากร แจงแล้ว จ่อดำเนินคดีคนปล่อยข่าว ทำลายชื่อเสียง
จากกรณีข่าวดราม่า กรมศุลกากรยึดทุเรียนลักลอบนำเข้า น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่เฝ้าระวังการลักลอบขนส่งสินค้าเกษตรบริเวณถนน 317(หน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์) อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว พบรถบรรทุก 6 ล้อน่าสงสัย จึงทำการขอตรวจค้น พบทุเรียนสด มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง มูลค่าประมาณ 1,178,800 บาท
จนต่อมามีข่าวว่า เจ้าของทุเรียนแจ้งว่าทุเรียนที่ถูกจับไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้า แต่เป็นทุเรียนศรีษะเกษ
ล่าสุด 26 มิ.ย. 66 กรมศุลกากร ชี้แจง กรณีจับทุเรียนลักลอบนำเข้า จำนวน 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการนำทุเรียนลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจค้นจับกุม โดยสายลับจะเป็นผู้นำชี้ให้ทำการตรวจค้นด้วยตนเอง
จนกระทั่งเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่ารถบรรทุกที่ขนทุเรียนลักลอบได้ออกจากพื้นที่แนวชายแดนแล้ว มุ่งหน้าไปทางถนนหมายเลข 317 เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่บริเวณที่สายลับแจ้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 09.45 น. ได้พบรถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว หมายเลขทะเบียน 68-2537 กทม. มีผ้าใบคลุมทับ ตามที่ได้รับแจ้งที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เจ้าหน้าที่จึงให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอทำการตรวจค้น และได้พบคนขับรถ เจ้าหน้าที่ได้แสดงตนพร้อมแจ้งเหตุแห่งความสงสัยให้ทราบ
ผลการตรวจค้นพบทุเรียนสดบรรจุอยู่ภายในกระบะบรรทุก เจ้าหน้าที่ได้สอบถามคนขับรถถึงที่มาซึ่งของที่ตรวจพบ และได้รับคำชี้แจงว่าตนเป็นคนขับรถรับจ้าง โดยได้รับการว่าจ้างให้นำรถบรรทุกมารับทุเรียน น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม ที่บริเวณหลังวัดเขาน้อย ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
เมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าวมีชาวกัมพูชาเป็นผู้ขนถ่ายทุเรียนขึ้นรถให้ ซึ่งผู้ว่าจ้างได้สั่งให้นำทุเรียนไปส่งที่ล้งใน จ.จันทบุรี โดยได้รับจ้าง 6,000 บาท โดยไม่มีเอกสารการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนจะติดต่อผู้ว่าจ้างให้มาพบเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้คนขับรถทราบ และนำของกลางพร้อมคนขับรถ และรถบรรทุกคันดังกล่าวส่งด่านฯ อรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. ในวันเดียวกันเจ้าของสินค้าได้มาพบเจ้าหน้าที่ โดยแสดงตนเป็นเจ้าของทุเรียนที่ตรวจพบ และได้ให้การรับสารภาพว่า
- ตนได้รับซื้อทุเรียนมาจากชาวกัมพูชาโดยทราบว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง
เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยเจ้าของสินค้าให้การรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเจ้าของสินค้าส่งงานคดี ด่านศุลกากรอรัญประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนประเด็นเรื่องทุเรียนรับซื้อมาจากจังหวัดศรีสะเกษ กรมศุลกากรได้ตรวจสอบเส้นทางของรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว พบว่าในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 รถยนต์คันดังกล่าวมิได้มีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแต่ได้มีการใช้รถอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและสระแก้วเท่านั้น
สำหรับในกรณีทำการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เข้าจับกุมโดยสุภาพ มิได้มีการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด และเจ้าของสินค้าก็มาแสดงตนยอมรับด้วยตนเอง และได้มีการบันทึกคำให้การโดยสมัครใจตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ
ซึ่งภายหลังจากที่เป็นข่าว ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าของทุเรียนได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภอ.คลองลึก โดยมิได้โต้แย้งการจับกุม หรือการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางเท่านั้น
ในส่วนของการปล่อยข่าวว่าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเอาทุเรียนที่จับได้ไปขายให้กับหน่วยงานต่างๆ ในโลกออนไลน์นั้น ทางกรมศุลฯก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วย เพราะเป็นการทำลายชื่อเสียงของกรมศุลกากร โดยผู้ที่นำไปเผยแพร่ข้อมูลอื่นๆ ก็จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ประเด็นนี้ทางกรมศุลกากรขอชี้แจงว่า ในการจัดการของกลางนี้ได้ให้ส่วนราชการแจ้งความประสงค์ และขายปันส่วนให้ส่วนราชการเพื่อเอาไปขายเป็นสวัสดิการในหน่วยงาน ตามกฎระเบียบศุลกากร ซึ่งเมื่อตรวจแล้วไม่มีโรคพืชติดเข้ามา จึงไม่ใช่ของเสียที่ต้องทำลายทิ้ง จึงสามารถขายปันส่วนให้กับหน่วยงานราชการตามระเบียบได้ ตามกฎหมายศุลกากรเมื่อเป็นของกลาง ถ้าของยังไม่เสียแล้วเราทำลายทิ้ง เราจะโดนหน่วยงานตรวจสอบว่า ทำให้ราชการเสียหาย จึงทำตามระเบียบ คือ ขายปันส่วนให้กับส่วนราชการภายในหรือภายนอก