"กรมชลฯ" คลี่แผนรับมือเอลนีโญลากยาว ย้ำทุกโครงการพร้อมสำรองน้ำ
นักวิชาการคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะลากยาวตั้งแต่ปี 2566- 68 ชี้การวางแผนบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน จึงต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำสะสมในอนาคต ด้าน "กรมชลฯ" ไม่ประมาทคุมเข้มบริหารน้ำอย่างรัดกุม ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด
23 กรกฎาคม 2566 "นายประพิศ จันทร์มา" อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กรมกำหนด ภายใต้การกำกับของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) เพื่อรับมือกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่นักวิชาการคาดว่าจะมีผลให้ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ กระทบต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกือบทั่วประเทศ อาจเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำทั้งในฤดูแล้งปี 66 ต่อเนื่องถึงปี 68 ดังนั้น จึงกำชับให้ปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัดและให้สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การทำเกษตรฤดูกาลผลิต 2566 ได้เน้นย้ำขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝน-น้ำท่าเป็นหลัก โดยทุกอ่างจะเก็บน้ำให้มากที่สุดเพื่อสำรองไว้ในฤดูถัดไป ขณะเดียวกันให้กรมชลฯเริ่มวางแผนว่าฤดูแล้งปี 66/67 กรมชลฯจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและพี่น้องประชาชนอย่างไร เช่น การจัดวางเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชยืนต้นที่มีมูลค่าสูงเช่น ทุเรียน ยางพารา สวนผลไม้ หรือกล้วยไม้ เป็นต้น ขณะที่การทำนาจะรณรงค์ให้ใช้โมเดลเปียกสลับแห้งในพื้นที่โครงการชลประทาน รวมถึงมาตรการการจ้างงานเกษตรกรในฤดูแล้ง เป็นต้น
"กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.66 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 (กรณี One map) ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้งของทุกปี อ่างเก็บน้ำใหญ่ทั่วประเทศ 35 แห่งจะมีปริมาณน้ำกักเก็บ 44,166 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)หรือ 62% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 20,624 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปี 65 ประมาณ 15,238 ล้านลบ.ม. และใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา
คาดว่าจะมีน้ำกักเก็บรวม 14,194 ล้านลบ.ม.หรือ 57% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้ 7,498 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 41% อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำคงเหลือ ณ ที่ 1 พ.ย. 66 ต้องประเมินอีกครั้งเมื่อผ่านไปอีกระยะ
ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนั้นได้สั่งการให้ทุกพื้นที่โครงการชลประทานตรวจสอบและปรับปรุงแหล่งน้ำ ให้ใช้งานได้เต็มศักยภาพเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำรอง" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
สำหรับภาคกลางใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ การบริหารน้ำจะมีภารกิจสำคัญ 4 ด้านคือ น้ำกิน น้ำใช้ รักษาระบบนิเวศและเพื่อการเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม โดยกรมจะร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) กลุ่มผู้ใช้น้ำ(JMC)ในการจัดรอบเวรสูบน้ำ ซึ่งกรณีนี้เคยใช้มาต่อเนื่องเมื่อสถานการณ์น้ำน้อย
ภาคเหนือจะมีอ่างเก็บน้ำแม่กวง แม่งัดเป็นหลักดูแลประชาชน ขณะที่ลุ่มน้ำยมจะเก็บน้ำในพื้นที่แก้มลิงเช่น บางระกำโมเดล ที่ทำนาเดือนเม.ย. เพื่อเลี่ยงน้ำหลากและใช้พื้นที่เก็บน้ำ 400 ล้านลบ.ม.หลังเข้าฤดูแล้งจะระบายน้ำเหลือ 30 เซนติเมตรเพื่อทำนา บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ และอนาคตโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ในพื้นที่สุโขทัย อุตรดิตถ์ เมื่อแล้วเสร็จตลอดคลองจะมีปตร.เพื่อกักเก็บน้ำ เป็นต้น สำหรับลุ่มน้ำน่านเขื่อนสิริกิติ์คาดว่าจะมีน้ำน้อยการบริหารจัดการต้องเคร่งครัดภายใต้ กอนช.
ในภาคตะวันออกพื้นที่มหานครผลไม้ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกEEC กรมจะใช้โครงการข่ายน้ำภาคตะวันออก และอ่างพวงกระจายน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจและการใช้น้ำอย่างทั่วถึงเป็นธรรม โดยใช้อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นศูนย์กระจายน้ำในภูมิภาคภายใต้การอนุญาตของคณะกรรมการลุ่มน้ำ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซากให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่น จังหวัดอุดรธานี ข่อนแก่น นครราชสีมา จะเน้นการเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำโดยใช้ฝายพับได้ รวมถึงโครงการสร้างประตูระบายน้ำ(ปตร.)และพื้นที่แก้มลิงในบริเวณปากแม่น้ำก่อนที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง ให้ตรวจสอบว่าแม้โครงการไม่แล้วเสร็จจะสามารถใช้สำรองน้ำได้หรือไม่ และพื้นที่ใดสามารถขุดเป็นบ่อสำรองได้ตามที่ท้องถิ่นร้องขอ
สำหรับภาคใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยแต่ละจังหวัดจะมีคลองผันน้ำที่สามารถใช้เป็นแหล่งสำรองน้ำ อาทิโครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ สำรองน้ำได้ 5 ล้านลบ.ม. โครงการระบบระบายน้ำตรังสำรองได้ 3.2 ล้านลบ.ม. โครงการบรรเทาอุทกภัยบางสะพานสำรองได้ 5.5 ล้านลบ.ม. รวมถึงพื้นที่บ่อยืมดินของกรมชลฯ เป็นต้น