อัปเดตบทลงโทษข้อหา "เมาแล้วขับ" ปี 2567 ค่าปรับ – จำคุก
ข้อหา "เมาแล้วขับ" ในประเทศไทย นับว่ามีโทษรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน โดยในปี 2567 จะมีบทลงโทษ "เมาแล้วขับ"เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง ไปรับชมกันเลย ?
อัปเดตบทลงโทษข้อหา "เมาแล้วขับ" ปี 2567 ค่าปรับ – จำคุก
โดยในปี 2566 คดีเมาเเล้วขับ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,930 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.75 คดีขับเสพ 65 คดี คิดเป็น ร้อยละ 2.22 คดี ขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 เมื่อเปรียบเทียบสถิติพบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา ปี 2565 จำนวน 1,687 คดี และปี 2566 จำนวน 2,864 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน 1,177 คดี
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ออก 5 มาตรการหลักในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ การขับเคลื่อนแบบบูรณาการ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย และการคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการดื่มสุรา
การดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ช่วง
- ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่: รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
- ช่วงเทศกาลปีใหม่: ใช้มาตรการชุมชน เพิ่มความมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบ “ด่านครอบครัว” เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและคนในครอบครัวไม่ให้ดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา
- ช่วงหลังปีใหม่: เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา
ส่วนพื้นที่เป้าหมายที่มีมาตรการรองรับการขยายเวลาเปิดสถานบริการ (ถึงตี 4) ได้แก่ สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ทั่วประเทศ) และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพฯ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
ซึ่ง “กฎหมาย เมาแล้วขับ ” มีอะไรบ้าง?
มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
เมาแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเมาแล้วขับ
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือมีใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (แบบ 2 ปี) ถือเป็นผู้เมาสุรา
ไม่เป่า = เมาแล้วขับ
- การปฏิเสธเป่าวัดแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน และศาลสามารถสั่งพักใบอนุญาตขับรถ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และสามารถยึดรถไว้ไม่เกิน 7 วัน
โทษเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ-เสียชีวิตเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ
- จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส
- จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี
เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที