เช็กรายชื่อ 10 จังหวัดนำร่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เริ่มจ่าย 13 เม.ย.นี้
เช็กรายชื่อ 10 จังหวัดนำร่อง ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เริ่มจ่าย 13 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป นายจ้างฝ่าฝืนไม่จ่ายมีความผิด
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อบังคับใช้แก่นายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในประเภทกิจการโรงแรม โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เม.ย. 2567 รายละเอียดระบุ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 และ มาตรา 87 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสี่ร้อยบาท ในท้องที่ ดังนี้
(1) กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา
(2) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนา
(3) จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
(4) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
(5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
(6) จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
(7) จังหวัดภูเก็ต
(8) จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ
(9) จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
(10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม
(1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไมใช่งานตาม (1)
ข้อ 4 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราวันละสี่ร้อยบาท
ข้อ 5 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2567 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2567
ล่าสุด วันที่ 12 เม.ย. 67 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ย้ำว่าประกาศนี้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาถือว่าเป็นข้อกฎหมายแล้ว ดังนั้นหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งลูกจ้างเองถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถติดต่อมายังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้