‘Pride Month’ เพิ่มรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลเดินหน้าหนุน ‘สมรสเท่าเทียม’
กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจเทศกาล" Pride Month" ดันเศรษฐกิจดีขึ้น เพิ่มเม็ดเงินเข้าประเทศ ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนสมรสเท่าเทียมต่อไป
"ชุมชนยั่งยืน" พามาติดตามความคืบหน้าของเทศกาล Pride Month ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดเผยว่าเทศกาลนี้สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไม่น้อย โดยย้ำชัดว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในเรื่องของสมรสเท่าเทียมต่อไป
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนทุกความหลากหลาย โดยได้ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนฉลองเทศกาล Pride Month เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่ม LGBTQIAN+ ตลอดช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โอกาสในการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าโดยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์
โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ทำการวิเคราะห์การจัดงาน Pride Month ว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและการค้า และการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ภายใต้นโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล ที่มุ่งกระจายการท่องเที่ยวสู่ 55 จังหวัด “เมืองน่าเที่ยว” ที่มีศักยภาพเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Event ระดับโลก
ซึ่งการจัดงานเทศกาล Pride Month จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรของผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั้งไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเป็นกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง
ด้านข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Ipsos ซึ่งทำการสำรวจประชาชน จำนวน 22,514 คน จาก 30 ประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ระบุว่า
- ร้อยละ 9 ของประชากรโลกที่บรรลุนิติภาวะระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- ประชากรไทย ร้อยละ 9 ก็ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่คาดการณ์ว่าประชากรที่อยู่ใน Gen Z หรือผู้ที่เกิดเกิดหลังปี 2540 มีแนวโน้มระบุตนเองเป็นผู้มีหลากหลายทางเพศมากกว่าประชากรกลุ่ม Millennial, Gen X และ Baby Boomer จึงเห็นได้ว่า...
กลุ่ม LGBTQIAN+ นี้ถือเป็นตลาดผู้บริโภคสำคัญที่สามารถมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยได้
ขณะที่ผลสำรวจของ LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินยังพบว่า ในปี 2566 กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกมีกำลังซื้อสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยมีกำลังซื้อ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 ปัจจุบันมีการจัดงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชนในทุกภูมิภาค สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับท้องถิ่น
โดยในปี 2567 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน Pride Month มากกว่า 860,000 คน สามารถสร้าง เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อสนับสนุนให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 และได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ ทุกฝ่าย ได้ร่วมเดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเสมอภาคและยั่งยืน
โดยเฉพาะการพัฒนายกระดับธุรกิจบริการของไทยให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความประทับใจและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการนำ Soft Power ของไทยมาใช้ดึงดูด พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเดินหน้า ผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมให้สำเร็จต่อไป