พายุโซนร้อน "ยางิ" รู้สาเหตุกลายเป็น "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" เตือนรับมือฝนยุคใหม่
ดร.ธรณ์ เผยสาเหตุโลกร้อน "น้ำทะเลร้อนจัด" ทำให้พายุโซนร้อนธรรมดากลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน เตรียมรับมือฝนยุคใหม่ที่จะตกหนักมาก
วันที่ 5 ก.ย. 2567 ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ได้โพสต์ข้อความถึงสถานกาณ์ "พายุไต้ฝุ่นยางิ" โดยระบุว่า "น้ำทะเลร้อนจัด" ทำให้พายุโซนร้อนธรรมดากลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น 'ยางิ' ในเวลาไม่ถึง 2 วัน สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน" ที่รุนแรง เตรียมรับมือฝนยุคใหม่ที่จะตกหนักมาก ซึ่งดร.ธรณ์ ยังโพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
"ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ กำลังมุ่งหน้าไปทางไห่หนานแบบช้าๆ โลกร้อนทำให้พายุลูกนี้เพิ่มกำลังเร็วมากและแรงเป็นพิเศษไต้ฝุ่นกับไห่หนาน ฮ่องกง และพื้นที่แถวนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตเป็นไต้ฝุ่นขนาดเล็กความรุนแรงต่ำ
โลกร้อนไม่ได้ทำให้พายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พายุแต่ละลูกจะแรงขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลร้อนมากกว่าในอดีตน้ำร้อนอากาศร้อนยังทำให้ฝนตกหนักกว่าเดิม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน/ดินถล่ม
- โลกร้อนยังทำให้พายุเพิ่มกำลังเร็วมากจนรับมือแทบไม่ทัน ยางิเปลี่ยนจากพายุโซนร้อนกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นในระยะเวลาอันสั้น
ผมเคยเขียนถึงเฮอริเคน Otis ที่เข้าเม็กซิโกในปีที่แล้ว พายุเร่งความแรงจากโซนร้อนกลายเป็น Cat5 ภายในเวลา 24 ชั่วโมง พายุมาเร็วมาก ทำให้รับมือไม่ทัน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบร้อย เศรษฐกิจพังพินาศ เสียหายหลายแสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านเหรียญ)
ในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา มีพายุไต้ฝุ่นเข้าไห่หนาน 106 ลูก แต่มีแค่ 9 ลูกเท่านั้นที่เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ยางิ จึงเป็นพายุที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายกับจีนใต้ จนต้องยกระดับการรับมือถึงขั้นสูงสุด ปิดทุกอย่างตั้งแต่พฤหัสค่ำ คาดการณ์ว่าพายุจะเข้าเต็มๆ ตลอดวันศุกร์เมื่อข้ามเกาะไห่หนาน พายุจะลงทะเลอีกครั้ง แล้วตรงมาที่เวียดนามเหนือ เมื่อลงทะเล พายุจะแรงเพิ่มขึ้น ต้องลุ้นว่าจะแรงขนาดไหน
เมื่อเข้าแผ่นดิน พายุจะลดความรุนแรง แต่ฝนยังคงมีอยู่ ยุคโลกร้อน ฝนน่ากลัวกว่าลม เพราะฝนตกหนักไม่ลืมหูลืมตา สร้างความเสียหายมากกว่า บ้านเราคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ/อีสานตอนบน ต้องติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิดว่าจะโดนเมื่อไหร่
กรมอุตุคาดว่า 8-10 กันยายน แต่ต้องตามต่อเนื่อง เพราะโลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การพยากรณ์ล่วงหน้านานๆ ทำได้ยาก ระวังตัวไว้ ติดตามข้อมูลแบบถึงไหนถึงกัน เตรียมรับมือ เช็คความเสี่ยง คิดถึงเหตุร้ายที่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดกับเรา ป้องกันและจำลองสถานการณ์เพื่อหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า อย่าประมาทพายุโลกร้อนเด็ดขาดครับ"
ทั้งนี้ คำเตือนจาก ดร.ธรณ์ ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม และร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคต