"นายกฯแพทองธาร" มอบนโยบาย 9 ข้อ ช่วยน้ำท่วม เตรียมลงพื้นที่ด้วยตนเอง
"นายกฯแพทองธาร" มอบนโยบาย 9 ข้อ สั่งการส่วนราชการช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว เตรียมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตนเองพรุ่งนี้
วันที่ 12 กันยายน 2567 ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ จากกรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานตั้งแต่เช้าอัปเดตสถานการณ์กับทางรัฐมนตรีตลอด ซึ่งสถานการณ์ทั้งจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้ค่อนข้างหนักพอสมควรจึงอยากให้ทางข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้ทราบ ซึ่งตอนนี้น้ำเข้ามาถึงอำเภอเมืองแล้ว และทราบว่าเข้ามาตรงสนามบินด้วย แต่รันเวย์ยังใช้ได้ ตนอยากจะสื่อสารให้ทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาหลังจากที่รอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อที่จะสั่งการได้ และรัฐมนตรีและรองนายกฯ ทุกท่าน ได้ดำเนินการล่วงหน้าเพื่อเป็นการดูแลประชาชนไปก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาและทำให้ประชาชนออกจากปัญหาและอุปสรรคเร็วที่สุด
“ขออนุญาตส่งความห่วงใยไปให้พี่น้องภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ และแน่นอนเราจะต้องทำในเรื่องของระบบการเตือนภัยและการเยียวยารักษาต่อไป ซึ่งอยากให้ทางราชการเล่ารายละเอียดให้ฟัง เพื่อที่จะบอกแนวทางการดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ทางรองนายกฯและรัฐมนตรีทุกกระทรวง ถ้ามีคำแนะนำอย่างไร ขอให้เสนอได้เลย เพราะอันนี้เป็นวิชั่นที่เราต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ถึงพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด” นายกฯ ระบุ
นายกรัฐมนตรี ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ และอย่างเต็มที่ ด้วยความตั้งใจจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัย โดยได้สั่งการเพิ่มขอให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้
1) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ
2) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง โดยให้แบ่งมอบพื้นที่กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร
4) เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม
5) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว
6) ให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา
7) ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “เรา (รัฐบาล) จะขอรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ให้รักษาชีวิตตัวเอง ออกมาจากที่ที่ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่น รัฐบาลจะช่วยในรูปแบบไหนบ้าง ขอให้เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะช่วยกันดูแลต่อไป” ให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
และ
9) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมงบกลาง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เฉพาะการเยียวยา โดยให้เน้นความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ ระบบเตือนภัยมีแล้ว สามารถทำงานได้ เเต่ได้รับรายงานว่าพี่น้องประชาชนยังไม่ออกจากบ้าน เพราะห่วงทรัพย์สิน ตนเองเข้าใจดี แต่ขอให้ประชาชนตระหนักถึงชีวิตของตนก่อนด้วย สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเงินช่วยเหลือประชาชน ขอให้ประสานกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
“พรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีบางส่วนวางแผนจะไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูสถานการณ์จริง และสั่งการได้อย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างปกติ ไม่ต้องมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีและคณะเพราะไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่ให้กระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รอความช่วยเหลือ” นายกรัฐมนตรีกล่าว