"อ.เจษฎ์" อัพเดทเส้นทางพายุโซนร้อนซูลิก เปิดพิกัดชัดๆ กระทบไทยภาคไหนบ้าง
อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อัพเดทเส้นทางพายุโซนร้อนซูลิก เปิดพิกัดชัดๆ กระทบไทยภาคไหนบ้าง ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และอย่าตื่นตระหนกเกินไป
เรียกได้ว่าการเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับ "พายุโซนร้อนซูลิก" ซึ่งเราก็ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังกันอยู่ว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ล่าสุด "อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาอัพเดทเส้นทางพายุโซนร้อนซูลิก เปิดพิกัดชัดๆ กระทบไทยภาคไหนบ้าง
"อ.เจษฎ์" ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า เห็นหลายคนแชร์ภาพ ที่บอกว่า "อัพเดทเส้นทางพายุโซนร้อนซูลิค จากทุกแบบจำลอง ensemble รวมกันแล้ว วิเคราะห์เส้นทางที่แน่ชัดมาไทยแน่นอน 100% ไม่เป๋ อาจจะมีแรงเหลือไปถึงเมียนมาร์" ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะมีพายุลูกใหญ่เข้าประเทศไทยเราอีกแล้ว (หลังจากลุ้นพายุไต้ฝุ่นยางิ ไปรอบหนึ่ง ซึ่งพอพายุขึ้นฝั่งประเทศจีน ก็ลงกำลังลงและสลายไปในที่สุด)
ก็เลยไปพยายามหาว่า มีคำเตือน "พายุโซนร้อนซูลิค" นี่ออกมาแล้วเหรอ หาในเว็บไซต์ต่างๆ ที่ติดตามเส้นทางของพายุโซนร้อน (พวก tropical storm tracker) ก็ไม่เจอชื่อนี้ ... พึ่งมาทราบว่า มันเป็นพายุดีเปรสชัน ที่คาดการณ์กันว่าน่าจะยกระดับเป็นพายุโซนร้อนได้ เมื่อเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และจะชื่อใช้ว่า "ซูลิก Soulik"
แต่เท่าที่ดูจากเว็บ tropicalstormrisk ก็ยังระบุว่า ตอนนี้ (0.00น. 19 กันยายน) พายุยังเป็นดีเปรสชั่นอยู่ (นับเป็นพายุลูกที่ 16) รวมถึงพยากรณ์ไปจนถึง 12.00น. วันที่ 20 กันยายนด้วย
สอดคล้องกับอัพเดตล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในเช้าวันนี้ (4.00น. 19 กันยายน) ครับ (จาก คลิก)
- พายุยังไม่ยกระดับเป็นพายุโซนร้อน และเคลื่อนตัวช้าลงเล็กน้อย ไปทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม.
- มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในวันนี้ (พัฒนาช้ากว่าที่คาด)
- คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในช่วงเช้าตรู่วันที่ 20 ก.ย. 67
- หลังจากนั้น จะอ่อนกำลังลงตามลำดับ และเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง ตามลำดับ
- ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเริ่มทางภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง ในวันนี้ถึงพรุ่งนี้ (19-20 ก.ย.67)
- แล้วเป็นภาคเหนือด้านตะวันออก และตอนล่าง ในวันถัดไป (ในช่วง 20-21 ก.ย.67)
นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนถึง "มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน)" ว่า มีกำลังแรง พัดเข้าหาพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน มีฝนตกหนัมาก บางแห่ง คลื่นลมมีกำลังแรงลม ในช่วงวันที่ 20–23 ก.ย. 67
สรุปว่า ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นลูกนี้ และลมฝนมรสุมในช่วงนี้ อย่างใกล้ชิด แต่อย่าตื่นตระหนกเกินไปครับ
ขอบคุณ Jessada Denduangboripant