"ดิไอคอนกรุ๊ป" เข้าองค์ประกอบแชร์ลูกโซ่ ชงอธิบดี DSI เซ็นรับเป็นคดีพิเศษ
มติเอกฉันท์ ดีดิไอคอนกรุ๊ป เข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ เสนออธิบดีดีเอสไอ เซ็นรับเป็นคดีพิเศษ
คืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป ล่าสุดวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยหลังประชุมรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานคดีดิไอคอนกรุ๊ป โดยระบุว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการรับคดีพิเศษ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าคดีดิไอคอนกรุ๊ป เข้าองค์ประกอบความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ บ่ายวันนี้ (29 ต.ค.67) จะเสนออธิบดีดีเอสไอ เซ็นรับเป็นคดีพิเศษ
โดยร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า จากการพิจารณาแผนประทุษกรรม แผนธุรกิจ งบการเงิน มีลักษณะเข้าข่ายความผิดแชร์ลูกโซ่ โดยหลังมีมติรับเป็นคดีพิเศษ แล้ว ไม่มีการนับหนึ่งใหม่ แต่นับ 9 เลย โดยดีเอสไอ ทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิด และจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทุกด้านร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ วิเคราะห์เส้นทางการเงิน องค์ประกอบการเสียภาษี การพิสูจน์เจตนา แบ่งเป็นทั้งตัวการหลักและตัวการร่วม หลังการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพิ่ม ผัดฟ้องฝากขังจะขยายจาก 4 ฝาก ตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาไว้เป็น 7 ฝาก ซึ่งดีเอสไอมั่นใจทำคดีได้ทันแน่นอน โดยความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ จะสอบสวนแยกออกจาก คดี ความผิดฟอกเงิน ที่เป็นคดีพิเศษไปก่อนหน้านี้
สำหรับผู้ต้องหาลอต 2 รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า เส้นทางการเงินจะบอกเองว่าใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ ใครเป็นตัวการร่วม จะทำแผนวิเคราะห์เส้นเงินดูข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป ขณะนี้เริ่มเห็นแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายผู้ต้องหา ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงทรัพย์ของกลางที่เป็นเครื่องประดับคล้ายทองคำและนาฬิกาแบรนด์เนมที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นของปลอม รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ไม่ว่าทรัพย์ของกลางจะเป็นข้อแท้หรือของปลอมก็เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน กรณีเป็นของแท้ ข้อดีคือทำให้ผู้เสียหายได้เฉลี่ยทรัพย์คืนได้มากขึ้น แต่หากเป็นของปลอม ก็ยึดเป็นของกลางและตั้งข้อสันนิษฐานว่า การสะสมนาฬิกาไม่แท้ อาจมีไว้เพื่อจัดฉากหลอกลวงประชาชน
ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก. กล่าวว่า ในการสอบสวนของตำรวจอย่างเร่งด่วนช่วง 5 วันแรก ฝ่ายสืบพบพฤติการณ์ที่จะยุ่งเหยิงกับพยานและพยายามหลบหนี จึงจับกุมข้อหาฉ้อโกงประชาชนก่อน เมื่อสอบผู้กล่าวหากว่า 8 พันปาก รวบรวมพยานหลักฐานพยานบุคคล และสอบผู้ต้องหาจึง สรุปได้ว่าเป็น พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ คือ ผู้เสียหายเกิน 300 คน และความเสียหาย 100 ล้านบาทขึ้นไป การส่งสำนวนเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การโยนภาระไปให้ดีเอสไอ โดยเป็นการส่งมอบพยานหลักฐานทั้งหมด ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่