กรมอุตุฯ ชี้แจงแล้วหลังลือ "พายุปาบึก" ส่งผลต่อไทย ช่วง 13 - 16 ธ.ค. 67
กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงแล้วหลังมีข่าวลือ "พายุปาบึก" ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในช่วงวันที่ 13 - 16 ธันวาคม 2567
ตามที่มีคำเตือนเกี่ยวกับเรื่อง จะเกิดพายุปาบึก ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในช่วงวันที่ 13 - 16 ธ.ค. 67 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีผู้โพสต์เตือนในสื่อออนไลน์ โดยแสดงภาพโมเดลทางอุตุนิยมวิทยา พร้อมคำเตือนระบุว่าจะเกิดพายุ ชื่อ ปาบึก วนกลับมาอีกครั้ง ในช่วงวันที่ 13 - 16 ธ.ค. ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า โมเดลดังกล่าวแสดงผลออกมาเป็นปริมาณฝน ไม่ได้แสดงว่า เป็นพายุ อย่างไรก็ตาม ฝนตกหนัก-หนักมาก อาจเกิดขึ้นได้ ถ้ามีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้ามา เพราะมีความกดอากาศสูงลงมา ทำให้เกิดการปั่นเป็นไซโคนิก เป็นหย่อมโลว์ได้ แต่ยังไม่ถึงขึ้นขั้นพายุ ค่าความน่าจะเป็นที่จะเป็นพายุยังไม่สูงพอ ซึ่งหากมีพายุเกิดขึ้นและมีผลกระทบกับประเทศไทยกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศให้ทราบอย่างน้อย 3 วัน
สำหรับพยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 3 - 6 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียและลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง และช่องแคบมะละกา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ธ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ไม่ถึงขั้นพายุ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในขณะนี้ยังไม่มีค่าความน่าจะเป็นเพียงพอที่จะเกิดพายุได้ และโมเดลที่โพสต์ดังกล่าวอ้างเป็นการแสดงปริมาณน้ำฝนไม่ใช่พายุ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม