ปภ. เตือน 9 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 12 - 16 ธ.ค. 67
ปภ.แจ้งเตือน 9 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ช่วง 12 - 16 ธ.ค. 67
วันนี้ 10 ธ.ค. 67 เวลา 10.45 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 12 - 16 ธ.ค. 67 พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (328/2567) ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 12 - 16 ธันวาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนบางพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 4 - 6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2 - 5 องศาเซลเซียส ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 13 - 15 ธันวาคม 2567 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
สำหรับคลื่นลมบริเวณ อ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 22/2567 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2567 คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 12 - 16 ธันวาคม 2567 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
- จังหวัดชุมพร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอละแม อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอพะโต๊ะ
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอพุนพิน อำเภอเคียนซา อำเภอพระแสง อำเภอดอนสัก อำเภอเกาะพะงัน และอำเภอเกาะสมุย
- จังหวัดนครศรีธรรมราช 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพระพรหม อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอช้างกลาง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา และอำเภอชะอวด
- จังหวัดพัทลุง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าบอน อำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอกงหรา
- จังหวัดสงขลา 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย
- จังหวัดปัตตานี 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอไม้แก่น อำเภอกะพ้อ อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอปะนาเระ อำเภอหนองจิก และอำเภอมายอ
- จังหวัดยะลา 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา และอำเภอรามัน
- จังหวัดนราธิวาส 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอบาเจาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอตากใบ
- จังหวัดตรัง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรัษฎา และอำเภอปะเหลียน
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ปัจจุบันมีระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีความเสี่ยง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อน ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองท่าดี คลองชะอวด แม่น้ำตรัง คลองลำ คลองท่าแนะ คลองอู่ตะเภา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
จังหวัดชุมพร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน และอำเภอละแม
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอดอนสัก อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน
- จังหวัดนครศรีธรรมราช 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร
- จังหวัดสงขลา 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา
- จังหวัดปัตตานี 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น
- จังหวัดนราธิวาส 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอตากใบ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 9 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน และพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้ได้มากที่สุด สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัยให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนบริเวณชายฝั่งทะเล ห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำโดยเด็ดขาด และให้แจ้งชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามเดินเรือเด็ดขาด พร้อมกันนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย และพร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด