ค่าแรง 400 บาท เป็นไปได้ยาก ปัญหาเศรษฐกิจฉุด
ปลัดกระทรวงแรงงานชี้เป็นไปไม่ได้ บอร์ดไตรภาคี ล่ม ขึ้นค่าแรง 400 บาท เนื่องจากต้องขอไปศึกษาเพิ่มเติม หวั่นกระทบภาคธุรกิจ
วันที่ 12 ธ.ค.67 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี ครั้งที่ 10/2567 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งใช้เวลาในการประชุมบอร์ดฯ ราว 2 ชั่วโมงครึ่ง
นายบุญสงค์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการพิจารณาและรับทราบในหลายๆเรื่อง คือ 1.รับทราบการแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายรัฐ จำนวน 2 คนคือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และ เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน 2.รับทราบขั้นตอนวิธีการเงื่อนไขรายละเอียดและข้อกฎหมายในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ และเรื่องที่สำคัญคือ 3.การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
“เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลแต่ละพื้นที่จำนวนมาก เราจึงต้องขอไปศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากตัวเลขมีหน่วยงานเสนอเข้ามากว่า 77 แห่ง ที่ประชุมทุกคนคุยกันแล้วว่า ขอไปประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 เวลา 13.00 น.” นายบุญสงค์ กล่าว
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเลขก็จะดูตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ และความเห็นของที่ประชุมบอร์ดฯเป็นหลัก ซึ่งไม่มีธงตัวเลข 400 บาทหรือเท่าไหร่ อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง และสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ในอัตรา 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด ต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
“อย่างไรก็ตามจะพยายามทำให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับผู้ใช้แรงงานให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและนายจ้าง เราดูการอยู่ได้ของทุกฝ่าย โดยกรรมการทั้ง 3 ฝ่ายมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด” นายบุญสงค์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรรมการฝ่ายรัฐ 2 คนที่แจ้งลาประชุม นายบุญสงค์ กล่าวว่า ทั้ง 2 คนติดประชุมด่วน
ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ทุกๆปี ฝ่ายนายจ้างยินดีที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ให้เป็นไปตามครรลอง ปรับตามรอบอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เคยคัดค้านที่จะปรับ แต่จะปรับเป็นตัวเลขเท่าไหร่ต้องดูสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด
ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ข้อมูลตัวเลขจากที่แต่ละจังหวัดเสนอมาในชั้นของอนุกรรมการฯ เป็นข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่าง ที่เราจะต้องพิจารณาใหม่ เพราะฉะนั้นฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นว่า เราควรจะนำตัวเลขที่มีอยู่มาหารือกัน เพื่อความรอบคอบอีกทีในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 อาจจะเป็นตัวเลขเดิมหรือมีการปรับลดหรือเพิ่มต้องดูกันอีกที
“ส่วนตัวเลข 400 บาทก็ยังคงเป็นความหวังของฝ่ายลูกจ้าง แต่ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดไตรภาคีที่จะพิจารณา ฝ่ายลูกจ้างอยากได้ ฝ่ายรัฐอยากให้ แต่ฝ่ายนายจ้างก็ต้องอยู่ได้ด้วย” นายวีรสุข กล่าว