เปิดวิธีป้องกัน "โนโรไวรัส" หลังระบาดในไทย ป่วยรวม 1,436 ราย
วิธีป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" (Norovirus) หลังระบาดในไทยแล้ว ผู้ป่วยรวม 1,436 ราย พบเป็นเด็กมากที่สุด
ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" (Norovirus) โดย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาเผยถึงการระบาดของ "โนโรไวรัส" ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยพบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ "น้ำและน้ำแข็ง" ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล โดยโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังการรับเชื้อ เชื้อโนโรไวรัสมักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว ไวรัสชนิดนี้มีความแข็งแกร่ง สามารถทนทานต่อความร้อน และยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี โดยเฉพาะเจลแอลกอฮอล์
ลักษณะและการแพร่ระบาดเชื้อโนโรไวรัส
โนโรไวรัสเป็นไวรัสขนาดเล็กที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้สามารถอยู่รอดในสภาพอากาศที่หลากหลายและแพร่กระจายได้ง่ายการติดเชื้อมักเกิดจาก
- การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น อาหารดิบ อาหารทะเล หรือผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างไม่สะอาด น้ำแข็งที่มีเชื้อปนเปื้อน
- การสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน เช่น ที่จับประตู โต๊ะ หรือเครื่องใช้ต่างๆ
- การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น การใช้ภาชนะร่วมกัน การดูแลผู้ป่วย หรือหายใจเอาละอองของเชื้อเข้าไปในร่างกาย
อาการโนโรไวรัส
- อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อาการรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่
วิธีการรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโนโรไวรัสได้โดยตรง เป็นการรักษาตามอาการ การรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนให้ยาแก้อาเจียน หากขาดน้ำจะให้น้ำเกลือแร่หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การให้ยาปฏิชีวนะจะไม่มีประโยชน์ในการรักษาการติดเชื้อ norovirus สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
วิธีป้องกันเชื้อ "โนโรไวรัส"
- ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสกับผู้ป่วย
- รับประทานอาหารที่สุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล และล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค
- กินร้อน ใช้ช้อนกลาง
- ทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่สัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
หน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน
- การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
- การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
- จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
- การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค
ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท