ปีใหม่ปลอดโรค สธ.เตือนระวัง 6 โรคระบาดในช่วงนี้ พร้อมแนะวิธีป้องกันตัว
กรมควบคุมโรค เตรียมความพร้อม "ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ" พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้
วันที่ 18 ธ.ค. 67 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ "ก้าวเข้าสู่ ปีใหม่ ปลอดโรคและภัยสุขภาพ" พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัว ให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
1. โควิด-19 แม้สถานการณ์โดยรวมจะทรงตัว แต่พบแนวโน้มผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสายพันธุ์หลักที่พบในไทย ได้แก่ JN.1, KP3.1 และ XEC อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสายพันธุ์เหล่านี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
2. ไข้หวัดใหญ่ แม้ผู้ป่วยจะลดลงจากช่วงฤดูฝน แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ทั้งนี้ การฉีดวัคซีน สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เป็นวิธีป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพ
3. ไข้เลือดออก แม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว แต่ยังคงต้องระวังในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พาหะนำโรค
4. อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ในปีนี้ พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน ส่วนอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสนั้น พบเชื้อโนโรไวรัสเป็นหลัก ซึ่งแม้จะไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่ แต่ก็ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะการรักษาความสะอาด ล้างมือ และรับประทานอาหารปรุงสุก
5. ไอกรน พบผู้ป่วยสะสมกว่าพันรายในปีนี้ และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยส่วนใหญ่พบในภาคใต้ ซึ่งมีอัตราการรับวัคซีนต่ำ
6. ไข้หูดับ เกิดจากการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงไม่สุก โดยในเดือนธันวาคมนี้ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และมีโรคประจำตัว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังโรคติดต่อจากต่างประเทศ เช่น ไข้หวัดนก ฝีดาษวานร และไข้โอโรพุช โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด
สำหรับโรคระบาดที่ไม่ทราบสาเหตุในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกนั้น ล่าสุดองค์การอนามัยโลก รายงานว่า พบเชื้อมาลาเรียในผู้ป่วยบางราย แต่ยังคงต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม
กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้ประชาชนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก รวมถึง สังเกตอาการตนเองหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ หากพบความผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที