8 จังหวัดตายเป็นศูนย์ สรุปยอดเสียชีวิต 6 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง
8 จังหวัดตายเป็นศูนย์ สรุปยอดเสียชีวิต 6 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค. 67 - 1 ม.ค. 68 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ดับแล้วอย่างน้อย 272 ศพ
เริ่มต้นปีใหม่ 2568 มาได้ 2 วันแล้ว ซึ่งสิ่งที่หลายคนจับตามากที่สุดในทุกๆ คือ อุบัติเหตุที่มักจะทำสถิติในทุกปี ซึ่งล่าสุด ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 สั่งกำชับทุกจังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน เข้มข้นการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมใส่หมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย
รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้า เตรียมรถบริการรับ-ส่งประชาชนให้เพียงพอกับความต้องการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย
โดย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นแรกของการเปิดทำงานหลังจากเทศกาลปีใหม่
ซึ่งประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ แล้วขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง รวมไปถึงถนนในชุมชนหมู่บ้าน ยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น และเมื่อคืนที่ผ่านมาหลังการเฉลิมฉลองปีใหม่ประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับทันทีทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ
จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ประสานทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้เข้มข้นการตั้งด่านตรวจจุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข้มขัดนิรภัย โดยหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ ให้ขนส่งจังหวัดดูแลความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง
ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมรถบริการรับ - ส่งผู้โดยสารจากสถานีขนส่งต่างๆ ให้เพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว และตรวจสอบความพร้อมของพนักงานขับรถและรถขนส่งสินค้า โดยจะต้องเปลี่ยนคนขับให้ปฏิบัติงานติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง หยุดพักขับรถไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมงก่อนขับรถต่อได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง หรือมีพนักงานขับรถอย่างน้อย 2 คน เพื่อผลัดกันทำหน้าที่ และให้มีการตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพปลอดภัยก่อนเดินทาง
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 มกราคม 2568 เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 346 คน ผู้เสียชีวิต 50 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
- ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.94
- ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 31.56
- ทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 16.81
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
- รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.42
- ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 81.12
- ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.71
- ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 30.09
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
- เวลา 00:01 - 01:00 น.
- เวลา 01:01-02:00 น.
- เวลา 18:01 - 19:00 น.
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 24.49 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,774 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,744 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (36 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (7 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (27 ธันวาคม 2567 - 1 มกราคม 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,694 คน ผู้เสียชีวิต รวม 272 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 12 ราย)