เผยเส้นทางมรสุมเข้าไทย เตือน 2 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม 14-17 พ.ค.นี้

เผยเส้นทางมรสุมเคลื่อนตัวเข้าไทย เตือน 2 จังหวัดเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 14 - 17 พฤษภาคม 2568 อาจเกิดฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยาได้อัปเดตการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุก 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ถึง 07.00 น. ของวันถัดไป) พร้อมลมที่ระดับความสูง 925 hPa (ประมาณ 750 เมตร) ล่วงหน้า 15 วัน ระหว่างวันที่ 14-28 พฤษภาคม 2568 จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) โดยใช้ผลวิเคราะห์จากแบบจำลอง ซึ่งแสดงผลเป็นแผนที่สี: สีแดงหมายถึงฝนตกหนัก ส่วนสีเขียวแสดงถึงฝนตกเล็กน้อย
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยในช่วงต้นฤดู ทิศทางลมยังคงมีลมจากทางใต้แทรกอยู่บางส่วน ทำให้ฝนยังคงตกกระจาย
แนวโน้มสภาพอากาศช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2568
ช่วง 14 - 17 พ.ค.68 ลมตะวันตกเฉียงใต้จะเริ่มพัดปกคลุมประเทศไทยและมีกำลังแรงขึ้นเป็นช่วงๆ และมีหย่อมความกดอากาศต่ำทางด้านทะเลอันดามัน ทำให้ฝนทั่วไทยยังกระจายต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกสะสมโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของภาคเหนือ (ตาก แม่ฮ่องสอน) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ด้านรับลม) อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ระวังน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก มีข้อจำกัดในการระบายน้ำ
ช่วง 18 - 22 พ.ค. 68 มรสุมอ่อนลงบ้าง แต่ยังมีฝนเกิดขึ้นช่วงบ่ายถึงค่ำ ตามมรสุมที่จะพัดปกคลุม และ 23 - 28 พ.ค.68 ฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพกันอีกครั้ง
ในช่วงของการเริ่มต้นเข้าสู่ฝน ทิศทางลมอาจจะมีความแปรปรวนอยู่บ้าง ฝนยังอาจเกิดขึ้นได้หลายเวลา ยังมีเป็นฝนฟ้าคะนอง มีลมกระโชกแรงอยู่บ้าง ปริมาณเฉลี่ยเล็กน้อยถึงปานกลาง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ฝนจะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำ โดยปกติประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือน พ.ค.
สำหรับฤดูฝนปีนี้จะเริ่มขึ้นวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.68) ช่วงต้นฤดูการกระจายของฝนยังดี มีต่อเนื่อง แต่ช่วง ปลาย มิ.ย.-ต้น ก.ค.68 อาจจะมีฝนน้อยในช่วงฤดูฝน
ดังนั้นฝนที่ตกช่วงนี้ควรหาแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร ในช่วงที่มีฝนน้อย บางพื้นที่น้ำฝนยังไม่เพียงพอต่อการเกษตรกรรม (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ)