กลัวลูกตัวเล็ก ให้ดื่ม ยาเพิ่มความสูง ครึ่งปีผ่าน พ่อแม่เข่าทรุด

พ่อแม่กลัวลูกตัวเล็ก รีบให้ดื่ม "ยาเพิ่มความสูง" ผ่านไปแค่ครึ่งปี ทำเอาพ่อแม่เข่าทรุด หลังรู้ความจริงจากหมอ
ความปรารถนาให้ลูกมีส่วนสูงมากขึ้น กลายเป็นแรงผลักดันให้พ่อแม่หลายคนมองหาทางลัด โดยลืมพิจารณาเรื่องความปลอดภัยและธรรมชาติของพัฒนาการเด็ก ดังเช่นกรณีของครอบครัวหนึ่งในประเทศจีน ที่ตัดสินใจให้ลูกชายวัย 8 ขวบ ดื่ม “ยาสูง” หลังพบว่าลูกมีความสูงเพียง 120 เซนติเมตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานและต่ำกว่าเพื่อนร่วมชั้นอย่างเห็นได้ชัด พวกเขาหวังว่าผลิตภัณฑ์จากคำแนะนำของเพื่อนจะช่วยเพิ่มความสูงได้
ในช่วงครึ่งปีแรกหลังเริ่มดื่ม “ยาสูง” เด็กชายมีความสูงเพิ่มขึ้นถึง 5 เซนติเมตร ทำให้พ่อแม่รู้สึกพึงพอใจ แต่หลังจากนั้น การเจริญเติบโตก็หยุดชะงักลงอย่างรวดเร็ว จนต้องพาไปตรวจที่โรงพยาบาลเด็กในเมืองอู่ฮั่น ผลวินิจฉัยทำให้ทั้งคู่ช็อก เมื่อแพทย์ระบุว่า กระดูกของเด็กมีอายุเทียบเท่าเด็กอายุ 11 ปี และแผ่นกระดูกกำลังปิดตัว ส่งผลให้ความสูงหยุดพัฒนาเร็วกว่าปกติ
ดร.หลินหมิง แพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อเด็ก โรงพยาบาลเด็กอู่ฮั่น ระบุว่า “ยาสูง” ที่รับประทานไม่สามารถเพิ่มความสูงได้จริง โดยฮอร์โมนเร่งความสูงที่ได้ผลจะต้องเป็นยาฉีด และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องควบคุมระดับฮอร์โมนอย่างเข้มงวด หากใช้ผิดวิธี อาจเร่งให้กระดูกปิดก่อนวัยอันควร และส่งผลให้เด็กไม่สามารถสูงได้อีก
นอกจากพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อความสูงยังรวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โภชนาการที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสุขภาพจิต โดยเฉพาะในช่วงวัยเจริญเติบโต หากพลาดช่วงเวลาสำคัญนี้ อาจไม่สามารถเรียกคืนโอกาสในการเติบโตได้อีก
ข้อมูลจากแพทย์ระบุว่า
- เด็กอายุ 3 ปี ควรสูงเฉลี่ยประมาณ 95 ซม.
- ช่วงอายุ 3–10 ปี ควรเพิ่มความสูงปีละ 5–7 ซม.
- ช่วงวัยรุ่น เด็กหญิงจะโตเร็วช่วงอายุ 10–12 ปี และเด็กชายช่วง 12–14 ปี โดยช่วงนี้เด็กอาจสูงเพิ่มได้ถึง 25–30 ซม.
ดร.หลิวฮวา แพทย์อีกท่านจากโรงพยาบาลเด็กอู่ฮั่น ยังระบุว่า หากเด็กมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะเร่งการเจริญของกระดูกจนหยุดสูงเร็วกว่าปกติ และยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันพอกตับ น้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงปัญหาด้านจิตใจ ซึ่งล้วนมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตเช่นกัน
4 วิธีที่หมอแนะนำ หากอยากให้ลูกสูงขึ้นอย่างปลอดภัย
- วัดส่วนสูงเป็นประจำ และวาดกราฟเส้นโค้งการเติบโต เพื่อดูว่าเด็กโตตามเกณฑ์หรือไม่
- เข้านอนก่อน 4 ทุ่ม เนื่องจากฮอร์โมนการเจริญเติบโตจะหลั่งมากที่สุดในช่วง 1–2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มหลับ
- ให้กินโปรตีนคุณภาพสูง เช่น ไข่ ปลา ถั่ว เนื้อไม่ติดมัน ผัก ผลไม้ และดื่มนมอย่างเหมาะสม
- สนับสนุนให้มีกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อรับแสงแดดที่ช่วยดูดซึมแคลเซียม กระตุ้นการเคลื่อนไหว และลดความเสี่ยงโรคอ้วน
ทั้งนี้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการ “เสริมแคลเซียม” หรือการดื่ม “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” โดยแพทย์เตือนว่า หากดื่มนมหรือแคลเซียมเสริมมากเกินไปโดยไม่ดูสัดส่วนโภชนาการ อาจส่งผลเสีย เช่น ท้องผูก หรือกระดูกแข็งก่อนวัย นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กบางคนดื่มนมต่อเนื่อง แต่ไม่ยอมกินอาหารหลัก ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
อีกหนึ่งความเสี่ยงคือเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มผสมน้ำผลไม้ ซึ่งอาจเร่งการสูญเสียแคลเซียมในกระดูก และรบกวนการทำงานของฮอร์โมนสำคัญต่อการเติบโต
ท้ายที่สุด แพทย์ย้ำว่า พ่อแม่ควร “ลงทุนในความรู้” มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะโฆษณาที่อวดอ้างว่าสามารถเพิ่มความสูงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปรึกษาแพทย์ เพราะการเติบโตของเด็กต้องอาศัยการดูแลต่อเนื่อง พฤติกรรมประจำวัน และสุขภาพโดยรวม ไม่ใช่แค่พึ่งพาผลิตภัณฑ์หรือคำแนะนำจากคนรอบข้างที่ไม่รู้จริง
ข้อมูลจาก phunuphapluat.nguoiduatin

พยากรณ์อากาศวันนี้ ฝนตกหนักหลายพื้นที่ เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน

เปิดที่มาเลขเด็ด "เลิ่กลั่ก" ถูกหวย 5,787 ใบ รับเละ 11 ล้าน

ล่าตัว 5 แก๊งเสือปุ่น ปล้นเงินสด 3.4 ล. กลางห้างดัง ตุ๋นแลกคริปโตฯ

สาวร้อง อดีตสส. หลอก 9 ล้าน อ้างช่วยจบคดี ล่าสุด เพจดังเปิดวาร์ป
