ลอยกระทงปีนี้ กทม. คึกคัก "กระทงโฟมลด" ยอดเก็บกระทงทั่วกรุงเกือบ 6.4 แสนใบ
“เทศกาลลอยกระทง” ประจำปี 2566 ของ กทม. ในปีนี้ยอดกระทงโฟมลดลง ด้านลอยกระทงดิจิทัล ได้รับความสนใจ มีกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยม
ผ่านมาแล้วกับ “เทศกาลลอยกระทง” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีผู้คนให้ความสนใจและหลั่งไหลเข้าไปลอยกระทงกันอย่างล้นหลาม โดยในปีนี้ก็ยังคงมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้กระทงโฟม และอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่เช่นเดิม ซึ่งหลายสถานที่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลอยกระทงให้ดูรักโลกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมี “ลอยกระทงดิจิทัล” และชมกระทงแบบดิจิทัลบนพื้นผิวน้ำคลองโอ่งอ่าง ผ่านโปรเจคเตอร์ขนาดใหญ่ ที่เรียกเสียงฮือฮาและความสนใจจากผู้คนได้มากมาย
ล่าสุด 28 พ.ย. 66นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอย เนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566
ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ ส่วนสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณพื้นที่จัดงานภายในเขต โดยเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พ.ย.66 แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันนี้ (28 พ.ย.66)
สถิติการจัดเก็บกระทงในกทม. ประจำปี 2566
จัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้ จำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้น 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74
แบ่งออกเป็นข้อมูลดังนี้
-กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มันสำปะหลัง ชานอ้อย ขนมปัง จำนวน 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74
-กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26
-โดยสรุปแล้ว กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.70 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 96.74 กระทงโฟม ลดลงจากร้อยละ 4.30 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.26
จำนวนกระทงแต่ละเขตพื้นที่
เขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,575 ใบ
เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 160 ใบ
เขตที่มีจำนวนกระทงวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตคลองสามวา จำนวน 31,560 ใบ
เขตที่มีกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตบึงกุ่ม จำนวน 1,579 ใบ
สวนสาธารณะที่ประชาชนมาใช้บริการ
สวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนมาใช้บริการรวมทั้งสิ้น 290,886 คน
รวมปริมาณกระทงที่จัดเก็บได้ จำนวน 88,011 ใบ
คิดเป็นสัดส่วนประชาชนต่อจำนวนกระทง 3 คน ต่อ 1 ใบ
สวนสาธารณะที่มีประชาชนมาใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก
ได้แก่ อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ
ในส่วนของการ “ลอยกระทงดิจิทัล” ผ่าน Projection Mapping ซึ่งเป็นการลอยกระทงมิติใหม่ที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้ ณ คลองโอ่งอ่าง บริเวณสะพานบพิตรพิมุข มีประชาชนให้ความสนใจร่วมลอยกระทง จำนวน 3,744 ใบ
ในปีนี้ถือว่ามีใช้กระทงโฟมลดลงจากปี 2565 อย่างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องน่ายินดีที่การเปลี่ยนแปลงได้ถือกำเนิดขึ้นทีละขั้น และมีแนวโน้มว่าความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในเทศกาลลอยกระทง จะดึงดูดผู้คนได้มากขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างแน่นอน
สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะนำไปคัดแยกและส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป