ปลดล็อก! วันทำประมง คืนชีพชาวประมงไทย
ปลดล็อก! วันทำประมง ให้เรือ 1,200 ลำ จับสัตว์น้ำเพิ่มอีก 20-50 วัน เล็งร่วม WTO จัดการความมั่งคั่ง “เศรษฐกิจประมง”
นายกฯ เผย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบเพิ่มวันทำการประมง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาประมงไทย คาดสร้างงานสร้างรายได้กว่าพันล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติให้เพิ่มวันในการทำการประมงให้กับเรือประมงในจำนวน 1,200 ลำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาประมงไทย โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 2567 เป็นต้นไป เพื่อจะเป็นการสร้างงานให้กับแรงงานมากกว่า 20,000 คน และสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าพันล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคืนอาชีพ คืนชีวิตให้ชาวประมงไทย
ขณะที่นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนวันทำการประมงไม่เพียงพอ จำนวน 1,200 ลำ ดังนี้
ฝั่งอ่าวไทย
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำหน้าดิน จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 50 วัน
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลาผิวน้ำ จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 50 วัน
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 30 วัน
ฝั่งทะเลอันดามัน
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำหน้าดิน จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 20 วัน
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลาผิวน้ำ จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 30 วัน
- กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม 50 วัน
โดยการจัดสรรวันทำการประมงเพิ่มเติมสำหรับเรือประมงแต่ละลำขึ้นอยู่กับจำนวนวันทำการประมงที่เหลืออยู่ของเรือประมงลำนั้น
สร้างรายได้เพิ่มกว่า 1,000 ล้าน
นายบัญชา กล่าวว่า การเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงทั้ง 1,200 ลำ ผ่านระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (E- License) ของเรือแต่ละลำจนเสร็จเรียบร้อย เมื่อเวลา 24.00 น.ของคืนวันที่ 29 ธ.ค.2566
โดยระบบจะลิงก์ข้อมูลวันทำการประมงที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม กับระบบการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง (FI) ทำให้ชาวประมงที่วันทำการประมงไม่เพียงพอสามารถออกไปทำการประมงได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2567 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประมงปีนี้ แล้วจะมีการจัดสรรวันการประมงรอบใหม่วันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง และนำทรัพยากรสัตว์น้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้กว่า 1,000 ล้านบาท
ด้าน น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (Agreement on Fisheries Subsidies) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นการจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามและควบคุมการอุดหนุนที่ภาครัฐของแต่ละประเทศให้แก่ภาคประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อรักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำทางทะเล จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การจัดทำความตกลงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม
สำหรับความตกลงดังกล่าว ถือเป็นความตกลงฉบับแรกของ WTO ที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดและควบคุมการอุดหนุนของประเทศสมาชิก WTO ที่มีมูลค่าการอุดหนุนในระดับที่สูง โดยหากลดการอุดหนุนของประเทศสมาชิกดังกล่าว จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลมีความยั่งยืนสำหรับการทำประมงในอนาคต รวมทั้งไทยสามารถจับสัตว์น้ำและแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม
สำหรับ การเจรจาจัดทำความตกลงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 เนื่องจาก WTO ได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำโลก และการอุดหนุนจากประเทศสมาชิก WTO ที่ให้แก่ภาคประมงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากจนทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ
โดยที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 4 (MC4) ได้มีปฏิญญา (Declaration) ให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการอุดหนุนประมง แต่การเจรจาได้หยุดชะงักไปในช่วงปี 2555-2558 เนื่องจากท่าทีของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระดับการพัฒนาและเศรษฐกิจที่หลากหลาย
ต่อมา ประเทศสมาชิกได้กลับมาเริ่มเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงอีกครั้ง เมื่อสหประชาชาติ (United Nations) ได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในปี 2558 (Sustainable Development Goals: SDGs) และ WTO ได้นำ SDG ข้อที่ 14.6 ที่ระบุเกี่ยวกับการห้ามและกำจัดการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำมาเป็นเป้าหมายในการเจรจา และ WTO สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12) เมื่อเดือน มิ.ย.2565
ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว จำนวน 55 ราย เช่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และไนจีเรีย ซึ่งความตกลงจะมีผลบังคับใช้ เมื่อมีประเทศสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง