เปิด 3 เส้นทางสายมู กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โกยเงินเข้าประเทศปีละหมื่นล้าน
ถูกใจ “สายมู” เส้นทางธรรมแห่งศรัทธา 3 เส้นทาง กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หลังพบไทยโกยเงินจากการท่องเที่ยวสายมูปีละหมื่นล้านบาท
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในปี 2567 ได้มอบนโยบายให้กรมการศาสนา (ศน.) ขับเคลื่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ (มูเตลู) ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน ซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย โดยบูรณาการกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กท.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นำพลังแห่งความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งทางศาสนา การผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคลที่ผู้คนนับถือบูชา มาใช้ในการส่งเสริมจัดแผนงานและโครงการต่างๆ
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดี ศน.กล่าวว่า ได้ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และเครือข่ายในพื้นที่จัดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา 3 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางความเชื่อความศรัทธาลุ่มแม่น้ำโขง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และ จ.อุดรธานี พร้อมบูรณาการกิจกรรมผ้าไทย ใส่บาตร ปูสาดริมโขง
- เส้นทางสักการะ พระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร จ.เชียงใหม่
- เส้นทางตามรอยเถราจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยจากการจัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นสร้างรายได้กว่า 1 พันล้านบาท
รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2566
เดือน ม.ค.- ก.ค.66 รวมกว่า 1.045 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 613 ,030 ล้านบาท
- รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 432,194 ล้านบาท
นักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
- มาเลเซียกว่า 3.2 ล้านคน
- จีน 2.5 ล้านคน
- เกาหลีใต้ 1.19 ล้านคน
- อินเดีย 1.16 ล้านคน
- รัสเซียกว่า 9 แสนคน
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ว่า การแสวงบุญสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบมากถึง 10,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปี 2562 โดยทรัพยากรการท่องเที่ยวมูเตลูของไทย มีทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า/เทวสถาน รูปจำลองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ ได้แก่ เครื่องรางของขลัง พิธีกรรม และบุคคล