เดินหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์อัฉริยะ เป้าโกย 200,000 ล้านเข้าประเทศ
ไทยเดินหน้า "ศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (T-CAV)" ยกระดับความปลอดภัยยานยนต์ไทย ปูทางสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้มแข็ง
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้เป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เป็นที่พึ่งของประชาชน และแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ของประเทศ
โดยล่าสุดมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เร่งเดินหน้าผลักดันโครงการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (T-CAV) ณ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อพร้อมให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม มุ่งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หวังดึงดูดการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้าน Future mobility และเป็นตัวเร่งให้เกิดระบบนิเวศน์ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 – 2568)
- ครอบคลุมการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV สำหรับใช้ทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ
- จำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมือง สัญญาณจราจร ป้ายจราจร
- อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้
- พร้อมทั้งทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV
- ระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz เพื่อตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่
- ทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติหรือระหว่างรถอัตโนมัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยมาตรฐานของสนามได้รับการทดสอบจาก IDIADA ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมชั้นนำระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานทางด้านการทดสอบยานยนต์มากกว่า 25 ปี
ในปี 2566 วศ.อว. ได้ให้บริการทดสอบเพื่อยืนยันสมรรถนะระบบ Automatic Emergency Braking (AEB) ให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ BMW (Thailand) (BMW 530e) GPSC (Chery EQ5) และ Horizon Plus (MG ZS EV 2022) โดยบริษัท Horizon Plus จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Foxconn และ บริษัท ปตท. จำกัด มีเป้าหมายในการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ราคาประหยัดในประเทศไทยเพื่อใช้ในประเทศรวมทั้งเพื่อส่งออกไปยังประเทศ อื่นๆ เช่น อินเดีย
โดยบริษัท Horizon Plus ได้ร่วมมือกับ วศ. ในการเตรียมขั้นตอนการทดสอบระบบ advance driver assistance system (ADAS) และระบบ autonomous driving (AD) โดยการผลิตดังกล่าวจะอยู่ที่โรงงานผลิตยานยนต์ของ Horizon Plus ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
นอกจากนี้ วศ.อว. ยังได้ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ มุ่งเน้นที่การทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยของระบบ assisted/automated driving (ระบบช่วยขับขี่และระบบ ขับขี่อัตโนมัติ level 3-4) จำนวน 4 นวัตกรรม ได้แก่
- รถไฟฟ้าอัตโนมัติ (BYD e6) ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
- รถกอล์ฟไฟฟ้าอัตโนมัติของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- ระบบเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่แบบใช้ GNSS แม่นยำสูง
- หุ่นยนต์ส่งของระดับความอัตโนมัติ Level 4 ยี่ห้อ NEOLIX
เมื่อโครงการนี้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ วศ.อว. มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์ของประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ EEC และในประเทศโดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 200,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2573
โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่ขายได้ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มีผู้ประกอบการทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์รถอัตโนมัติ ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในการขับขี่ (ADAS) ของไทย