ศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคตของภูมิภาค
ไทยพร้อมก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคตของภูมิภาค” เอกชนสัญชาติไทยนำ วทน. ดัน “ผำ” ซูเปอร์ฟูดสัญชาติไทยสู่เวทีโลก
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์วูล์ฟเฟีย ซึ่งจัดโดยบริษัทแอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด หนึ่งในสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีอาหารสัญชาติไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้เปิดเผยถึงศักยภาพความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยในฐานะ “ครัวของโลก” และการก้าวเป็น “ศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคตของภูมิภาค” ในอนาคต ณ โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ ลาดพร้าว บาย ยูเอชจี
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มุ่งส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานคุณค่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) โดยได้จัดทำแผนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ปี พ.ศ. 2566 - 2570 และกำหนดให้การยกระดับการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร ผลไม้ไทยคุณค่าสูง และอาหารแห่งอนาคตด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประเทศ
รวมทั้งได้วางแผนจัดสรรเงินทุนผ่านหน่วยงานบริหารจัดการทุน หรือ PMU ที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วย ได้แก่
- หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA)
- สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)
เพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ภายใต้กรอบแนวคิดการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จาก ‘หิ้ง’ สู่ ‘ห้าง’
“จากนิยาม“อาหารแห่งอนาคต (future food)” ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่
- อาหารฟังก์ชั่นและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น
- อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล
- อาหารออร์แกนิค
- โปรตีนทางเลือก
โดยประเทศไทยส่งออกอาหารแห่งอนาคตปีละกว่า 130,000 ล้านบาท คาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ดังนั้น หากมีตัวเร่งอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเสริม อาจจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
อาหารกลุ่มที่ได้รับความสนใจและมีศักยภาพสูง ได้แก่ อาหารฟังก์ชั่นและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น และโปรตีนทางเลือก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 110,000 ล้านบาท และ 22,000 ล้านบาท ตามลำดับ
“ผำ” super food และ future food ของไทย
“ผำ” หรือ “ไข่น้ำ” หรือ “ไข่ผำ” เป็นพืชมีดอกตระกูลแหนที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
- มีความเป็น super food และ future food อยู่ในตัว
- มีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 25 - 40 ของน้ำหนักแห้ง (เทียบเท่าถั่วเหลือง)
- อุดมด้วยวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 ซึ่งไม่พบในพืชอื่นโดยทั่วไป และเกลือแร่ เช่น ธาตุเหล็ก และแคลเซียม
- ไม่มีกลิ่นและรสจึงสามารถนำไปผสมเข้ากับอาหารได้หลากหลายชนิด เป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับอาหารจานโปรดของทุกคนได้อย่างง่ายดาย
- เป็นพืชโตเร็ว เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต
ต้นแบบ “ระบบล้างทำความสะอาดผักผำแบบต่อเนื่องกึ่งอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร” เครื่องแรกของโลก
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งการบ่มเพาะและให้องค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมร่วมกับเครือข่ายจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนชั้นนำผ่าน โครงการ SPACE-F Global FoodTech Incubator and Accelerator” รวมถึงสนับสนุนเงินทุนในโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เพื่อพัฒนาต้นแบบ “ระบบล้างทำความสะอาดผักผำแบบต่อเนื่องกึ่งอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร” เครื่องแรกของโลก ซึ่งช่วยให้กระบวนการล้างทำความสะอาดผำมีประสิทธิภาพสูง มีความสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผำไทยในเวทีโลกต่อไป