22 เมษายน"วันคุ้มครองโลก (Earth Day)" ภารกิจดูแลโลกของมวลมนุษยชาติ
เปิดประวัติ "วันคุ้มครองโลก (Earth Day)" จุดเริ่มต้น เเนวคิด เเละภารกิจของคนทั้งโลกเพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ อนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ คงสภาพระดับประชากรให้สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ เเละสร้างสำนึกรักษาโลก ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ
22 เมษายนของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญเเละเป็นวันที่คนทั่วทั้งโลกต้องช่วยกันดูเเละ รักษาโลกใบนี้ นั่นคือ วันคุ้มครองโลก (Earth Day) จุดเริ่มต้นของวันที่คืออะไร ความสำคัญของวันนี้มีไว้ทำไม "ชุมชนยั่งยืน" มีคำตอบมาฝากค่ะ...
22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day)
วันที่ 22 เมษายนของทุกปีตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2513 ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program ("UNEP") โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา
"เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา" จุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองโลก
จุดเริ่มต้นของการคุ้มครองโลกคือ ในปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้เห็นด้วย และได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก
ต่อมา เนลสันได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองโลก” (Earth Day)
วันคุ้มครองโลกในประเทศไทย
ประเทศไทย ได้มีการจัดให้มีการรณรงค์วันคุ้มครองโลกขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากที่นายสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กระทำอัตวินิบาตกรรม และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ ป่าไม้ และผลกระทบอันร้ายแรงจากการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมรักษ์ธรรมชาติเพื่อหารายได้เข้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้บุกเบิกด้านการอนุรักษ์ป่าไม้คนสำคัญของประเทศไทย
เป้าหมายการคุ้มครองโลก
- เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
- เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
- เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
- เพื่อห้ามซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิต ที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
- เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
- เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
- เพื่อสร้างสำนึกที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ
ภาพเเละข้อมูล : กรมประชาสัมพันธ์, วิกิพีเดีย