‘Pride Month’ เพิ่มรายได้เข้าประเทศ รัฐบาลเดินหน้าหนุน ‘สมรสเท่าเทียม’

กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจเทศกาล" Pride Month" ดันเศรษฐกิจดีขึ้น เพิ่มเม็ดเงินเข้าประเทศ ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนสมรสเท่าเทียมต่อไป
"ชุมชนยั่งยืน" พามาติดตามความคืบหน้าของเทศกาล Pride Month ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ออกมาเปิดเผยว่าเทศกาลนี้สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไม่น้อย โดยย้ำชัดว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนในเรื่องของสมรสเท่าเทียมต่อไป
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนทุกความหลากหลาย โดยได้ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนฉลองเทศกาล Pride Month เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่ม LGBTQIAN+ ตลอดช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โอกาสในการขยายธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าโดยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์
โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ทำการวิเคราะห์การจัดงาน Pride Month ว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและการค้า และการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ภายใต้นโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล ที่มุ่งกระจายการท่องเที่ยวสู่ 55 จังหวัด “เมืองน่าเที่ยว” ที่มีศักยภาพเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเป็นศูนย์กลางการจัดงาน Event ระดับโลก
ซึ่งการจัดงานเทศกาล Pride Month จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรของผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั้งไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มมากขึ้นและเป็นกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูง
ด้านข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Ipsos ซึ่งทำการสำรวจประชาชน จำนวน 22,514 คน จาก 30 ประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ระบุว่า
- ร้อยละ 9 ของประชากรโลกที่บรรลุนิติภาวะระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
- ประชากรไทย ร้อยละ 9 ก็ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่คาดการณ์ว่าประชากรที่อยู่ใน Gen Z หรือผู้ที่เกิดเกิดหลังปี 2540 มีแนวโน้มระบุตนเองเป็นผู้มีหลากหลายทางเพศมากกว่าประชากรกลุ่ม Millennial, Gen X และ Baby Boomer จึงเห็นได้ว่า...
กลุ่ม LGBTQIAN+ นี้ถือเป็นตลาดผู้บริโภคสำคัญที่สามารถมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจของไทยได้
ขณะที่ผลสำรวจของ LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินยังพบว่า ในปี 2566 กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกมีกำลังซื้อสูงถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยมีกำลังซื้อ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 ปัจจุบันมีการจัดงานอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังชุมชนในทุกภูมิภาค สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับท้องถิ่น
โดยในปี 2567 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน Pride Month มากกว่า 860,000 คน สามารถสร้าง เงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อสนับสนุนให้ไทยมีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 และได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ ทุกฝ่าย ได้ร่วมเดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเสมอภาคและยั่งยืน
โดยเฉพาะการพัฒนายกระดับธุรกิจบริการของไทยให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความประทับใจและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งการนำ Soft Power ของไทยมาใช้ดึงดูด พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเดินหน้า ผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมให้สำเร็จต่อไป

ราชกิจจาฯ ประกาศ แต่งตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำนวน 14 ราย

"หมอดัง" เตือน ยาคู่ยอดฮิตหายปวดแต่ไตพัง กินผิดชีวิตเปลี่ยน

"ทนายดัง" เคลียร์ชัด ใครถูกผิด ปมเดือดกระบะ vs บีเอ็มป้ายแดง

แม่ดีใจ เจอแล้ว "น้องแบม" สาวน้อย 15 เปิดใจถึงสาเหตุ หนีออกจากบ้าน
