"มาดามเดียร์" มอง Blockchain เป็นโอกาสเพิ่มมูลค่า แนะรัฐสนับสนุน
“มาดามเดียร์” มอง Blockchain เป็นโอกาสเพิ่มมูลค่า แนะ รัฐมีวิสัยทัศน์ เปลี่ยนความคิดจากควบคุม เป็นสนับสนุน สร้างไทยแลนด์คอมพานี เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ
26พ.ย.65 น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหัวข้อโอกาสของประเทศไทยในสังเวียน Digital Asset และ Blockchain ในงาน Blockchain Thailand GENESIS 2022 ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นสิ่งที่จะมาปฏิวัติทุกวงการอุตสาหกรรม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเงินเพียงอย่างเดียว และสิ่งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งสำคัญ ถ้าหากรัฐมีวิสัยทัศน์และสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งานอย่างไร รวมถึงหากมีการสนับสนุนภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
ในช่วง 1-2 ปี วงการคริปโตและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และแม้ว่าจะมีความผันผวนสูงแต่ตนมองว่ามันเป็นโอกาสหนึ่งที่จะสร้างให้คนไทยและนักธุรกิจไทย อีกทั้งจะเห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษามีการตื่นตัวและสนใจเข้ามาศึกษาเรื่องของคริปโตและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้กับประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงยังเป็นโอกาสในส่วนของบริษัท อย่างบริษัท Bitkub ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ที่เป็นบริษัทของคนไทยแต่สามารถไปยืนแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติได้ ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรทำคือการสนับสนุนให้เอกชนไทยเกิดความเข้มแข็งในการแข่งขันบนเวทีโลก ให้เป็นไทยแลนด์คอมพานี เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ
น.ส.วทันยา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของประเทศไทยสิ่งหนึ่งคือเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูล บางครั้งมีคำถามว่าข้อมูลถูกจัดเก็บมาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ รวมไปจนถึงเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน และหากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป
นอกจากนี้ หากเรามองในอีกมิติหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับประเทศ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าไทยที่มีอัตลักษณ์ได้เป็นจำนวนมาก เช่น การจัดเก็บข้อมูลของสายพันธุ์ข้าว เพื่อสร้างความสตอรี่ความน่าสนใจให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อ เป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ SME ไทยได้อีกด้วย เห็นได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีประโยชน์จำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐจึงจะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนเรื่องของเทคโนโลยีบล็อกเชนให้มากที่สุด และจะต้องเปลี่ยนความคิด จากการเป็นผู้ควบคุม (Regulator) มาเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator)