พม. แจงปรับเกณฑ์ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เน้นผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลัก
พม. แจงปรับเกณฑ์ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ไม่กระทบรายเดิม เน้นผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลัก โดยอธิบดีกรมกิจการนัดถกรายละเอียดกับมหาดไทย - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
พม.แจงปรับเกณฑ์ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เน้นผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลัก
ล่าสุด วันนี้ (15 ส.ค.66) น.ส.แรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึง กรณีที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า
ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพเดิม และยังคงสิทธิรับเบี้ยยังชีพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนเดิม โดยกระทรวงฯ จะหารือในเรื่องระเบียบดังกล่าวร่วม กับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุเป็นหลัก
สำหรับการปรับปรุงในเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ข้อ 6(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ทั้งนี้ระเบียบใหม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาล ข้อ 17 วรรค 1 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป
ส่วนข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ยังมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิตามข้อ 6(4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้กำหนด เงื่อนไขรายละเอียด โดยรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจ เพราะผูกพันกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ และใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะหากดูสถานการณ์ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์ อย่างน้อยจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นธรรม