เปิดประวัติ "ครูชลธี ธารทอง" ตำนานเทวดาเพลง ก่อนเสียชีวิตในวัย 85 ปี
เปิดประวัติ ครูชลธี ธารทอง ตำนานเทวดาเพลง ก่อนเสียชีวิตในวัย 85 ปี หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 3 เดือน มีผลงานประพันธ์มากกว่า 2,000 เพลง
จากกรณีที่ ครูปุ้ม ศศิวิมล รัตนอำพันธุ์ แจ้งข่าวเศร้าการจากไปของ "ครูชลธี ธารทอง" หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบ 3 เดือน ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อ 24 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลารักษาตัวนานกว่า 3 เดือน และได้เสียชีวิตอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช หลังอาการทรุดหนักจนหมอต้องรีบโทรตามครอบครัวมาดูใจ ปิดตำนานเทวดาเพลง วัย 85 ปี
โดยประวัติ ครูชลธี ธารทอง ชื่อจริง สมนึก ทองมา เกิดวันที่ 31 สิงหาคม 2480 ที่จังหวัดชลบุรี เข้าเรียนชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม ที่ชลบุรี มาต่อชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน ที่ชลบุรี และจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จากนั้นก็ได้ย้ายมาอยู่กับญาติที่ราชบุรี ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ที่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ด้านชีวิตครอบครัว เรียกว่าลำบาก ปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก พ่อมีอาชีพรับจ้างเร่ร่อนทั่วไป ตอนคลอดแม่เจ็บท้องขณะกำลังเกี่ยวข้าว และตกเลือดตายตั้งแต่ ครูชลธี มีอายุแค่เพียง 6 เดือน แต่ด้วยความไม่ย่อท้อและสู้ไม่ถอย ไม่ว่าจะเป็นงานทำนา ทำไร่ ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ช่างก่อสร้าง แต่ด้วยความที่ครูชลธี มีใจรักการร้องเพลงมาตั้งแต่เล็ก และเคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง ชลธีสนใจการร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เล็ก และเคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง เชียร์รำวงชื่อดังอีกวงของยุคนั้น
- อาลัย ครูชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้ว
- ครูชลธี ธารทอง" อาการทรุดหนัก ล่าสุดแพทย์โทรตามญาติแล้ว
จนในเวลาต่อมาสมัครเข้าเป็นนักร้องในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งไทย และได้ขึ้นเวที ในวันที่มาสมัคร แต่เนื่องจากไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปกลับต่างจังหวัด (ราชบุรี) ขณะเดียวกันก็ไม่ชำนาญเส้นทางในกรุงเทพ จึงมาเข้าวงสายตลอด 3 วันถัดมา จึงถูกไล่ออก
จากนั้นก็มีผู้ชักชวนให้มาอยู่กับวงลิเก และพากย์หนัง ก่อนจะบวช หลังจากสึกก็มาเป็นหางเครื่องอยู่กับวง เทียนชัย สมญาประเสริฐ ที่มีนักร้องดังอย่าง ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นภรรยารวมอยู่ด้วย แต่ลาออกจากวงเพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยทองของนักร้องในวงระหว่างที่รถของคณะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ
แต่ต่อมา ได้สมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจายของ ครูสำเนียง ม่วงทอง โดยใช้เพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง ซึ่งเขาก็ชนะ และครูสำเนียงรับให้มาอยู่ร่วมคณะ แต่ไม่ได้ขึ้นร้องเพราะนักร้องเต็ม และครูสำเนียงเป็นคนตั้งชื่อให้เขาว่า ชลธี ธารทอง เพราะเป็นคนเมืองชลฯ
หลังจากอยู่มาปีครึ่ง ชลธี จึงได้ขึ้นร้องเพลง และต่อมาได้อัดแผ่นเสียงรวม 4 เพลง แต่ไม่ดังสักเพลง ระหว่างนั้น ถ้ามีเวลาว่าง เขาก็ ได้ศึกษาวิชาแต่งเพลงอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากครูสำเนียง และก็ได้นำความรู้ความสามารถในการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้ในการแต่งเพลง
ระหว่างที่อยู่วงรวมดาวนี้เองที่เพลง พอหรือยัง ของ ชลธี ถูก ศรคีรี ศรีประจวบ นำไปร้องจนประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาเป็นคนแต่ง เพราะเพลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปหลงรักสาวร่วมคณะรวมดาวกระจาย และก็อกหัก เลยแต่งเพลงนี้นำมาร้องแก้กลุ้ม
พอดีมีนักร้องชายในวงอีกคนเกิดชอบ ก็มาขอไปร้องบนเวที ต่อมานักร้องคนนั้นโดนไล่ออก และได้ไปอยู่กับวงศรคีรี และเมื่อศรคีรีได้ยินเพลงนี้จึงถามว่าใครแต่ง นักร้องคนนั้นได้บอกว่าเขาแต่งเอง ศรคีรีจึงขอเอามาอัดแผ่นเสียงโดยใช้ชื่อคนแต่งว่าศรคีรี เมื่อ ชลธี ธารทอง ออกมา ทักท้วง ศรคีรี ก็ได้มาอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่าย
ครั้งที่อยู่กับวงรวมดาวกระจาย ชลธีมีโอกาสบันทึกเสียง 4 เพลง แต่ไม่ดังสักเพลง ต่อมา ชลธี ถูกไล่ออกจากวงรวมดาว ในข้อกล่าวหาดังแล้วแยกวง ซึ่งไม่เป็นความจริง จากนั้นก็มีนายทุนออกเงินตั้งวงให้ ชื่อวง สุรพัฒน์ แต่ก็ไปไม่รอด
ขณะที่เพลงของเขาก็ขายไม่ค่อยได้เพราะคนไม่รู้จักชื่อเสียง ก็พอดีกับ ศรคีรี มาขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ แต่พอเขาแต่งเพลงชุดนั้นเสร็จ ศรคีรี ก็มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ชลธี จึงตัดสินใจหันหลังให้วงการเพลง และหอบครอบครัวไปช่วยพ่อตาแม่ยายทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น แต่ก่อนจะไปจากกรุงเทพฯ เขาบังเอิญไปพบกับเด็กล้างรถที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล
ซึ่งมีเสียงถูกใจจึงได้มอบเพลง 2 เพลงที่กะจะให้ศรคีรีกับเด็กคนนั้นไปโดยไม่คิดเงิน ต่อมาเด็กคนนั้นก็คือ สายัณห์ สัญญา ที่โด่งดังจากเพลง ลูกสาวผู้การ และ แหม่มปลาร้า ที่เขามอบให้ในวันนั้น
เมื่อ สายัณห์ โด่งดัง เขาจึงถูก มนต์ เมืองเหนือ เรียกตัวกลับกรุงเทพเพื่อให้มาแต่งเพลง ทำให้ลูกศิษย์คนต่อมาของเขาก็คือ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง โด่งดังจากเพลง ทหารอากาศขาดรัก จากนั้นชลธีก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงานและสรรหานักร้องคุณภาพออกมาประดับวงการอยู่เนืองๆ จนประสบความสำเร็จอย่างมาก และในที่สุดก็ได้รับฉายาจาก ยิ่งยง สะเด็ดยาด คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ว่า เทวดาเพลง
ชลธี ธารทอง หันมาจับธุรกิจทำวงดนตรีลูกทุ่ง โดยทำวงให้กับ สุริยัน ส่องแสง แต่ปรากฏว่า นักร้องนำถูกยิงตายเสียก่อน เขาเลยต้องเป็นหนี้ยกใหญ่ บทเพลงของ ชลธี ธารทอง มีจุดเด่นในการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง เนื้อหามีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง บทเพลงมีความดีเด่นในศิลปะการประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ
เป็นนักแต่งเพลงที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงเอง ผลงานเพลงล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง สร้างนักร้องลูกทุ่งให้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากอาทิ สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, เสกศักดิ์ ภู่กันทอง, วิไล พนม, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรีย์ รุ่งสว่าง, เอกพจน์ วงศ์นาค, บุษบา อธิษฐาน, สุนารี ราชสีมา, ดำรง วงศ์ทอง, นพรัตน์ ไม้หอมเป็นต้น
ผลงานการแต่งเพลง (มีผลงานประพันธ์มากกว่า 2,000 เพลง) ยกเพลงดังมา
พอหรือยัง (ศรคีรี ศรีประจวบ)
อีสาวทรานซิสเตอร์ (อ้อยทิพย์ ปัญญาธร)
ไอ้หนุ่มตังเก (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)
หนาวใจที่ชายแดน (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)
สำรวยลืมคำ (ไพรวัลย์ ลูกเพชร)
ล้นเกล้าเผ่าไทย (สายัณห์ สัญญา)
จำปาลืมต้น (สายัณห์ สัญญา)
ไอ้หนุ่มรถไถ (สายัณห์ สัญญา)
คาถามัดใจ (สายัณห์ สัญญา)
ปิดห้องร้องไห้ (สายัณห์ สัญญา)
นางฟ้ายังอาย (สายัณห์ สัญญา)
สาวเวียงหนุ่มไทย (จินตหรา พูนลาภ)
แรงงานข้าวเหนียว (จินตหรา พูนลาภ)
ผู้บ่าวลืมเกิบ (จินตหรา พูนลาภ)
พบรักปากน้ำโพ (สายัณห์ สัญญา)
คำสั่งเตรียมพร้อม (สายัณห์ สัญญา)
แหม่มปลาร้า (สายัณห์ สัญญา)
ลูกสาวผู้การ (สายัณห์ สัญญา)
กินอะไรถึงสวย (สายัณห์ สัญญา)
แฟนฉันไม่ต้องหล่อ (สุนารี ราชสีมา)
เทพธิดาผ้าซิ่น (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
จดหมายจากแม่ (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
หนุ่มทุ่งกระโจมทอง (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
เรียกพี่ได้ไหม (เสรีย์ รุ่งสว่าง)
จดหมายจากแนวหน้า (ยอดรัก สลักใจ)
ล่องเรือหารัก (ยอดรัก สลักใจ)
ทหารอากาศขาดรัก (เสกศักดิ์ ภู่กันทอง)
หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง (สดใส รุ่งโพธิ์ทอง)
วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน (สุริยัน ส่องแสง)
กินข้าวกับน้ำพริก (ผ่องศรี วรนุช)
จำปาคืนต้น (ผ่องศรี วรนุช)
สาวปากน้ำโพ (ผ่องศรี วรนุช)
เมตตาธรรม (เพลงการกุศล สมทบกองทุนเพื่อเด็กไทย)
สาวเพชรบุรี (พุ่มพวง ดวงจันทร์)
พาร์ตเนอร์เบอร์ห้า (พุ่มพวง ดวงจันทร์)
ยังรักเสมอ ( ดำรง วงศ์ทอง )
นักรบนิรนาม ( แมงปอ ชลธิชา )
ฟ้าร้องไห้ (เพลงถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)
งานเขียน
หนังสือ ชลธี ธารทอง เทวดาเพลง (2547)
เกียรติยศ
แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 1 รางวัล จากเพลง“อีสาวทรานซิสเตอร์” ปี 2525
รางวัลเสาอากาศทองคำ 3 รางวัล จากเพลง “น้ำตาอีสาน”ปี 2518, “ใต้ถุนธรณี” ปี 2521และ "ห่มธงนอนตาย” ปี 2519
รางวัลงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยภาค 1-2 รวมจำนวน 7 รางวัล จากเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก", "ไม้เรียวครู", " สาวใต้ไร้คู่" และ "อีสาวทรานซิสเตอร์" ปี 2532 และจากเพลง “ล้นเกล้าเผ่าไทย", "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ แรงงานข้าวเหนียว ปี 2534
รางวัลชนะเลิศเพลงประเพณีสงกรานต์ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 1 รางวัล ปี 2533
รางวัลลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย 3 รางวัล จากเพลง" หนาวใจชายแดน", "พบรักนครพนม" และ"จงทำดี”
โล่เกียรติคุณงานมหกรรมเพลงอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียจากเพลง"อีสาวทรานซิสเตอร์" ปี 2524
ได้รับเกียรติให้นำผลงานเพลง "ล้นเกล้าเผ่าไทย" แสดงในงาน 60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย