"ตุ๊ก ดวงตา" แชร์ประสบการณ์ "งูสวัดขึ้นหน้า" แนะฉีดวัคซีนป้องกัน
"ตุ๊ก" ดวงตา ตุงคะมณี นักแสดงรุ่นใหญ่ แชร์ประสบการณ์ "งูสวัดขึ้นหน้า" แนะฉีดวัคซีนป้องกัน แฟนคลับแห่ส่งกำลังใจ
หลายคนรู้จักกันดีสำหรับ "ตุ๊ก" ดวงตา ตุงคะมณี นักแสดงรุ่นใหญ่ ล่าสุด ได้ออกมาโพสต์ภาพโชว์รอยแดงที่ใบหน้า พร้อมทั้งเผยว่ารอยแดงดังกล่าว เกิดขึ้นจาก "โรคงูสวัด"
โดยทางด้าน "ตุ๊ก ดวงตา" เล่าว่า "ดูเทนนิส Montreal open ซึ่งมาดึกตั้งแต่ 4ทุ่มเป็นต้นไป จนเกือบสว่างมาหลายวันแล้วไปออกกำลังมากไป ร่างกายเลยอ่อนเพลีย พี่งูสวัด เค้ามาหาทันทีเลย ดีนะเพิ่งฉีดวัคซีนไปเมื่อเดือนที่แล้ว หมอบอกโชคดีมีภูมิ จึงไม่เป็นมาก ไม่งั้นเละกว่านี้แน่ อาจจะเป็นแผลเป็นด้วย
ขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนกันงูสวัดกันนะคะโดสของเขาคือฉีดเข็มแรกและเข็มที่สองอีกภายในหกเดือน อายุเยอะเยอะแล้วควรจะฉีดเป็นอย่างมากนะคุณหมอบอก" ซึ่งมีเหล่าแฟนคลับและคนบันเทิงเข้าถามไถ่และส่งกำลังใจให้อาตุ๊กหายไวๆ จำนวนมาก
สำหรับ โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ที่เมื่อติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัส VZV จะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทโดยไม่แสดงอาการใดๆ ได้นานหลายปีจนเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
เชื้อไวรัส VZV ที่แฝงตัวอยู่จะค่อยๆ กำเริบโดยการแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และแพร่กระจายไปตามปมประสาทรับความรู้สึกและรอบปลายประสาทผิวหนังจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ ปวดตามแนวเส้นประสาท เกิดรอยโรคลักษณะผื่นแดงที่ผิวหนัง
ตามด้วยตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่ม พาดยาวตามแนวปมประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน เจ็บแปลบตามร่างกาย ปวดหัว และอาจมีไข้ร่วม ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัดด้วยกันทั้งสิ้น
- ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคงูสวัด
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
- ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- ผู้ที่เป็นมะเร็ง
- ผู้ป่วยติดเตียง
- ผู้ที่มีความเครียด
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
- ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ที่รับยาเคมีบำบัด
- ผู้ที่ใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคเอสแอลอี (SLE) โรคหัวใจ โรคไต
การป้องกันงูสวัด
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด : ผู้ที่เคยหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนในวันเด็ก ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดที่อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา
หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง : ผู้ที่เป็นงูสวัดควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายลุกลามสู่ผู้อื่นซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เด็กเล็ก หรือสตรีมีครรภ์ และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของผู้ที่เป็นโรคงูสวัดออกจากผู้อื่น
หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง : การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กับการออกกำลังกาย การทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด และการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคงูสวัดได้