"ชานม" ทำเสี่ยง ภาวะซึมเศร้า - ความวิตกกังวล ถึงขั้นคิดสั้น
เชื่อมโยงปัญหาสุขภาพจิต นักวิจัยเผยผลสำรวจ อาการของการ "เสพติดชานม" เกิดขึ้นได้จริง แถมเสี่ยงซึมเศร้าถึงขั้นคิดสั้น
ฮิตแล้ว ฮิตอยู่ แล้วจะฮิตตลอดไป สำหรับ "ชานม" เครื่องดื่มประจำตัวของสาวๆ หลายๆ คนรวมไปถึงหนุ่มๆ สายหวาน ยิ่งถ้าได้เติมไข่มุกลงไปด้วย ยิ่งฟิน แต่ว่ากันว่า ของอร่อยมักจะมาพร้อมกับอันตรายนั้นคงไม่ใช่แค่เรื่องล้อเล่นซะแล้ว เพราะล่าสุด มีวิจัยได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่น่ากังวลกับปัญหาสุขภาพจิต
โดยมีรายงานจาก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิงฮวา และมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์กลางในประเทศจีน ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Journal of Affective Disorders จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาวิทยาลัย 5,281 คนจากปักกิ่ง พบว่าอาการของการ "เสพติดชานม" ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นได้จริงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวล
ทั้งนี้นักวิจัยเขียนในรายงานตีพิมพ์ ระบุว่า ชานมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในจีน โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น การค้นพบของเราเน้นย้ำว่า การดื่มชานมอาจนำไปสู่การเสพติด และเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความคิดฆ่าตัวตาย
ด้าน ทีมวิจัยพบหลักฐานที่แสดงว่าคนหนุ่มสาวบางคนแสดงสัญญาณของการเสพติด โดยระดับการเสพติดพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความอยากอย่างต่อเนื่องและพึ่งพิงความสุขจากมันมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันกลับมีความตั้งใจที่จะหยุด ไม่สามารถหยุดได้ ต้องอดทน และความรู้สึกผิดเมื่อดื่มมัน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ดื่มชานมอย่างน้อยหนึ่งแก้วต่อสัปดาห์
สำหรับ นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการศึกษาวิจัยนี้แนะนำว่า เยาวชนอาจใช้ชานมเป็นกลไกในการรับมือและควบคุมอารมณ์ และเครื่องดื่มประเภทนี้อาจทำให้เสพติด และสร้างความเสียหายได้เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดีย หรือยาเสพติด จึงมีความกังวลว่าสามารถนำไปสู่อารมณ์ในแง่ลบ และการแยกตัวออกจากสังคมในวัยรุ่นได้
ในการศึกษานี้ การบริโภคชานมสัมพันธ์กับความเหงาและความซึมเศร้า แม้ว่าการศึกษานี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระบุสาเหตุ แต่ก็เน้นถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเครื่องดื่มประเภทนี้
ท้ายที่สุดทีมงานวิจัยยังได้แนะนำให้มีมาตรการเพื่อป้องกันปัญหา ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่อาจเชื่อมโยงกับชานม ตั้งแต่โรคอ้วน และฟันผุ ไปจนถึงการเสพติด และภาวะซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุอีกว่า การวิจัยสามารถช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ เช่น การจำกัดการโฆษณา การให้การศึกษาด้านจิต การสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยอาหาร สำหรับอุตสาหกรรมการบริโภคที่เน้นกลุ่มเยาวชน ขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องสุขภาพจิตของพวกเขาด้วย
ข้อมูลจาก Journal of Affective Disorders และ sciencealert